มีผู้อธิบายและให้คำนิยามของ ”สังคมนิยม” ในบทนำของจุลสารเล่มหนึ่ง เมื่ออ่านแล้วรู้สึกว่าผู้อธิบายไม่ได้แสดงเนื้อหาของสังคมนิยมอย่างแยกแยะและเป็นวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด ออกจะค่อนไปตามความเข้าใจของตนที่ได้ยินได้ฟังและศึกษามาอย่างไม่ชัดเจน การแสดงความคิดเห็นจึงกลายไปเป็นการวิพากษ์ ”ลัทธิขุนนางสตาลิน” “ประชาธิปไตยรวมศูนย์” “ลัทธิเหมา”
“การเปลี่ยนสีแปรธาตุของสังคมนิยม”
“การต่อสู้ด้วยอาวุธ” “พคท”ฯลฯ พร้อมกับเสนอแนวคิดของตนบางประการ ซึ่งเป็นการนำแนวคิด
”โลกสวย” ของนักอุดมคติที่มีชีวิตอยู่ก่อนหน้าและร่วมสมัยกับมาร์กซเช่น โทมัส มอร์ ฟูริเยร์ แซงต์ ซิมอง
โรเบิร์ต โอเวน และอีกหลายๆความคิดมาผสมผสมผสานกันซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือแนวคิดใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่อาศัยชื่อของสังคมนิยมกับชื่อของลัทธิมาร์กซ์มากลบเกลื่อนความคิดของตนที่มีความโน้มเอียงไปในแนวทางลัทธิ ”สังคมนิยมปฏิรูป” โดยรณณรงค์เรื่อง “รัฐสวัสดิการ” เป็นด้านหลักซึ่งเป็นไปได้ยากในสังคมไทยในปัจจุบัน ผู้เขียนเองแม้จะได้ศึกษาลัทธิมาร์กซมาบ้างแต่ก็ขาดๆเกินๆและไม่ค่อยจะเป็นระบบนัก จึงใคร่ขอชี้แจงความเข้าใจที่มีต่อลัทธิมาร์กซในประเด็นที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
การเคลื่อนไหวของบรรดานักคิดทั้งหลายในสมัยของมาร์กซและก่อนหน้ามาร์กซที่กล่าวนามมาข้างต้น เป็นที่รู้จักกันในนามของการเคลึ่อนไหวสังคมนิยม(อุดมคติ) เพื่อที่จะจำแนกให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสังคมนิยมที่เป็นวิทยาศาสตร์ของตนเป็นคนละอย่างกัน มาร์กซจึงได้ประกาศตนและแนวคิดของตนว่าเป็นชาวคอมมิวนิสต์ในจุลสารเรื่อง ”คำประกาศของชาวคอมมิวนิสต์” พร้อมทั้งได้เสนอหลักในการที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมว่า
มีเพียงทางเดียวเท่านั้นคือต้องโค่นล้มชนชั้นผู้กดขี่รวมทั้งระบอบการปกครองของพวกเขาลงไปเสียก่อนจึงจะสามารถสร้างสังคมใหม่และขจัดสิ่งเลวร้ายเหล่านี้ไปได้
มาร์กซยังมีความเห็นว่ากำลังหลักในการเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ที่พลังของชนชั้นกรรมาชีพ(proletariat) ซึ่งเป็นชนชั้นผู้ไร้สมบัติทั้งมวลที่ขายแรงงานเพื่อการดำรงชีพ โดยมีกรรมกร(workers)ในโรงงานอุตสาห - กรรมสมัยใหม่เป็นกองหน้าในการเคลื่อนไหวต่อสู้ ชนชั้นนี้เป็นชนชั้นที่มาร์กซได้ค้นพบว่าเป็นคู่ความขัดแย้งโดยธรรมชาติของชนชั้นนายทุนในสังคมทุนนิยม การต่อสู้นี้เป็นการต่อสู้ทางชนชั้น มันจะดำรงอยู่ตลอดและจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อชนชั้นใดชนชั้นหนึ่งถูกโค่นล้มลงไปหรือไม่ก็สูญสลายไปทั้งคู่
หลังจากได้อำนาจรัฐแล้วชนชั้นกรรมาชีพจะต้องสถาปนาเผด็จการของชนชั้นตน ซึ่งเป็นประชาธิปไตย ของคนส่วนใหญ่มาแทนที่ประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุนที่เป็นเผด็จการของคนส่วนน้อยขึ้นมาก่อน เพื่อปกป้องรักษาดอกผลของการปฏิวัติว่าจะไม่ถูกทำลายไปหรือถูกเปลี่ยนมือไปอยู่กับชนชั้นนายทุนอีก เป็นการปูทางไปสู่การสร้างสรรค์สังคมที่ปราศจากการขูดรีดในลำดับต่อไป ดังนั้นการตีความในประเด็น
”เผด็จการ” ควรจำแนกให้ชัดเจนถึงรากฐานความคิดทางปรัชญาของลัทธิมาร์กซให้ถ่องแท้เสียก่อนว่ามันหมายถึงเผด็จการของใคร เป็นเผด็จการของชนชั้นทั้งชนชั้น? หรือเป็นเผด็จการของกลุ่มบุคคล? หรือเป็นเผด็จการเฉพาะของคนๆเดียว ?
จากมุมมองแบบนักมนุษยธรรมของนักสังคมนิยมอุดมคติเหล่านั้น
พวกท่านได้วิพากษ์วิจารณ์วิถีการผลิตของระบอบทุนนิยมอย่างรุนแรงเพราะได้เห็นถึงความเลวร้ายของมันที่ก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำในทางเศรษฐกิจ-สังคม การกดขี่ขูดรีด ความอยุติธรรม ความยากจน และความขาดแคลนทั้งปวง แต่พวกท่านไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้ จึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยการสร้างสังคมใหม่ขึ้นตามจินตนาการของพวกท่าน มุ่งเน้นที่จะปรับปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการผลิตและความสัมพันธ์อื่นๆของสังคม โดยหวังว่าจะสามารถว่าจะผ่อนคลายความขัดแย้งเหล่านี้ลงไปได้ โดยไม่ได้ให้ความความสำคัญและมองข้ามการต่อสู้ทางชนชั้น
ทั้งยังหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากชนชั้นปกครองและบรรดานายทุนทั้งหลายอีกด้วย
ชาวมาร์กซเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะเกิดขึ้นได้จากการปฏิวัติ โดยเชื่อมโยงความพยายามทางอัตวิสัยเข้ากับกับความเป็นจริงทางภววิสัย ภาระหน้าที่แรกสุดที่ชาวมาร์กซจำเป็นต้องกระทำคือการสร้างจิตสำนึกปฏิวัติให้แก่ชนชั้นกรรมาชีพซึ่งเป็นกองหน้าของการปฏิวัติ ไม่ใช่วาดฝันอยู่กับความต้องการทางความคิดของตนแต่เพียงอย่างเดียว ชาวมาร์กซเองก็จะต้องปรับปรุง ทบทวน พัฒนาและยกระดับความรับรู้ทางทฤษฎี
ประสบการณ์ และความจัดเจนของตนอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน เพื่อจะได้นำความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในแง่มุมที่หลากหลายไปช่วยสร้างจิตสำนึกปฏิวัติให้แก่มวลชนนั้น
สำหรับชนชั้นกรรมกร หากว่าความรับรู้ทางทฤษฎียังไม่ถูกต้องชัดเจนเพียงพอแล้ว ก็จะเกิดความเบี่ยงเบนทางความคิดและแนวทางปฏิบัติได้ เอาแค่ว่า,จะให้คำตอบอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรต่อคำถามของกรรมกรพื้นฐานที่ยังเข้าใจว่า “นายจ้างของเขาไม่เห็นจะกดขี่ขูดรีดตรงไหน? ให้งานทำ มีชีวิตดีขึ้น ทำไมจะต้องไปโค่นล้มพวกเขาด้วย”(จากประสบการณ์) การตอบคำถามนี้ไม่ใช่เพียงแค่ให้คำอธิบายอย่างเป็นนามธรรมตามเนื้อหาทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความรู้จากประสบการณ์มาอธิบายถึงต้นตอและรูปแบบของการกดขี่ขูดรีดให้พวกเขาได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะประยุกต์ทฤษฎีไปอธิบายปัญหาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร? สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จำต้องระลึกอยู่เสมอก็คือ
สำหรับชนชั้นกรรมกร หากว่าความรับรู้ทางทฤษฎียังไม่ถูกต้องชัดเจนเพียงพอแล้ว ก็จะเกิดความเบี่ยงเบนทางความคิดและแนวทางปฏิบัติได้ เอาแค่ว่า,จะให้คำตอบอย่างเป็นรูปธรรมอย่างไรต่อคำถามของกรรมกรพื้นฐานที่ยังเข้าใจว่า “นายจ้างของเขาไม่เห็นจะกดขี่ขูดรีดตรงไหน? ให้งานทำ มีชีวิตดีขึ้น ทำไมจะต้องไปโค่นล้มพวกเขาด้วย”(จากประสบการณ์) การตอบคำถามนี้ไม่ใช่เพียงแค่ให้คำอธิบายอย่างเป็นนามธรรมตามเนื้อหาทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยความรู้จากประสบการณ์มาอธิบายถึงต้นตอและรูปแบบของการกดขี่ขูดรีดให้พวกเขาได้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะประยุกต์ทฤษฎีไปอธิบายปัญหาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร? สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่จำต้องระลึกอยู่เสมอก็คือ
“โลกทัศน์ของลัทธิมาร์กซได้ค้นพบว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นอาวุธสำคัญในการปฏิบัติ
ในขณะ เดียวกันชนชั้นกรรมาชีพก็ได้ค้นพบเช่นกันว่าลัทธิมาร์กซเป็นอาวุธทางปัญญา“
ดังนั้นหน้าที่ของปัญญาชนคือการเข้าไปช่วยสร้างจิตสำนึกปฏิวัติให้แก่มวลชนกรรมกรไม่ใช่ทำตัวเป็นอาจารย์หรือผู้นำที่คอยชี้นิ้วออกคำสั่งให้เชื่อหรือให้ทำตาม ดังนั้นความหนักแน่นชัดเจนทางทฤษฎีและประสบการณ์จากการปฏิบัติจึงมีความจำเป็นสำหรับชาวมาร์กซผู้มีความปรารถนาจะสร้างกองหน้าแห่งสังคมนิยมขึ้นมา
การสร้างจิตสำนึกปฏิวัติให้แก่มวลชนกรรมกรเพียงเรื่องเดียว ก็เป็นปัญหาที่ต้องใช้ความพยายามอย่างมากมายอยู่แล้ว ปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษไม่ได้สอนให้คิดและกระทำอย่างทีเป็นลักษณะกลไก
หรือให้เชื่อแบบลัทธิคัมภีร์อย่างแข็งทื่อ ไม่ได้สอนให้ชี้ชัดลงไปในทันทีทันใดว่าสิ่งไหนผิดหรือถูก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะไม่มองและตัดสินแนวคิดทฤษฎีใดๆที่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติว่าเป็นสิ่งที่ถูก
ต้องไปเสียทั้งหมด
ส่วนที่ยังไม่ได้นำไปปฏิบัติหรือปฏิบัติแล้วล้มเหลวเป็นสิ่งที่ผิดไปเสียทั้ง
หมดโดยยังไม่ได้ผ่านกระบวนการคิดแบบวิภาษวิธี
ความเหมือนและความแตกต่างของความคิดทางทฤษฎีที่หลากหลายจะเป็นเครื่องมือกรุยทางไปสู่ความถูกต้องของรูปแบบการจัดองค์กร การให้การศึกษา การสร้างจิตสำนึกปฏิวัติ การนำ
การสร้างกองกำลัง การยกระดับความคิด ยกระดับการเคลื่อนไหว
ตลอดไปจนถึงการกำหนดแนว ทางยุทธศาสตร์-ยุทธวิธี
อย่างน้อยที่สุดก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการต่อสู้แบบ ”เป็ดไล่ทุ่ง” ได้ (คือการถูกศัตรูขีดเส้นให้เดิน หรือเดินตามๆกันไปโดยไม่ต้องคิดอะไร)
ในทัศนะของชาวมาร์กซ,สิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นไม่มีและไม่เคยมีมาตั้งแต่สังคมมนุษย์เริ่มมีกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ที่กล่าวเช่นนี้เพราะยึดถือในความเป็นวิทยาศาสตร์และหลักการของวัตถุนิยมวิภาษที่ไม่ได้สอนให้มองสรรพสิ่งเป็นเรื่องสมบูรณ์ มีแต่ปรัชญาจิตนิยมและเมตาฟิสิคส์ที่สอนเช่นนั้น
ชาวมาร์กซจะไม่พิจารณาเพียงแต่ปรากฏการณ์ของมันเพียงอย่างเดียว หากยังต้องพิจารณาไปถึงธาตุแท้และความสัมพันธ์ของมันกับสิ่งอื่นๆอีกด้วย แน่นอน..ในกระบวนการหนึ่งๆในทางธรรมชาติหรือทางสังคมย่อมประกอบไปด้วยความขัดแย้งนานาชนิด แต่ความขัดแย้งคู่หนึ่งจะพัฒนาขึ้นมาในช่วงเวลาที่แน่นอนหนึ่งๆ จนกลายมาเป็นคู่ความขัดแย้งหลักเหนือความขัดแย้งคู่อื่นๆซึ่งมันจะสร้างผลสะเทือนและครอบงำไปทั้งกระบวนการแต่มันก็ไม่ได้ดำรงอยู่โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
สำหรับกระบวนการประชาธิปไตย..ในขณะที่ด้านหลักของความขัดแย้งยังอยู่ที่ชนชั้นปกครองซึ่งเป็นคนส่วนน้อย ประชาชนส่วนใหญ่ยังเป็นด้านรองอยู่ จึงเป็นประชาธิปไตยของชนชั้นนายทุน
และ เพราะพวกเขาเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต
ดังนั้นความคิด วัฒนธรรม ศิลปะวรรณคดี การศึกษา ฯลฯ และ แนวทางประชาธิปไตยของชนชั้นนี้จึงมีอิทธิพลครอบงำสังคม ครอบงำไปเสียทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งไม่ได้ผิดไปจากบทสรุปที่ว่า“ชนชั้นใดครอบครองปัจจัยการผลิต ชนชั้นนั้นครอบครองสังคม”
ต่อปัญหาความเท่าเทียมหรือสิทธิเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตยที่ชนชั้นปกครองชอบอ้างอยู่เสมอ ว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสวงหาความสุขในชีวิต ทุกคนในสังคมมีสิทธิเสรีภาพที่จะทำอะไรก็ได้ (ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและความเห็นชอบของพวกเขา) ทุกคนมีสิทธิ์กินอาหารในภัตตาคารหรู ดื่มไวน์ขวดละแสน ซื้อรถสปอร์ตรุ่นใหม่ ซื้อเครื่องบินส่วนตัว ครอบครองที่ดินนับหมื่นแสนไร่ แต่สำหรับกรรมกรรากหญ้าอย่างพวกเราแค่ “มีกิน” และไม่เป็นหนี้ก็ดีใจแล้ว ดังนั้นความเสมอภาคในสังคมทุนนิยมจึงเป็นแค่ความเสมอภาคตามตัวอักษรที่ชนชั้นนายทุนเขียนไว้เท่านั้น สิ่งที่ปรากฏอยู่จริงคือความเสมอภาคในความ “ไม่เท่าเทียม” และใน ”ความยากจน” มาร์กซได้อธิบายไว้ใน “วิพากษ์นโยบายโกธา” ว่า
“ความเสมอภาคนั้นวัดได้จากบรรทัดฐานเดียวกันคือแรงงาน ...แต่ทว่าคนๆหนึ่งย่อมมีความเหนือกว่าอีกคนหนึ่งในทางกำลังกายและสติปัญญา ดังนั้นจึงสนองแรงงานได้มากกว่าหรือทำงานได้มากกว่าในช่วงเวลาเดียวกัน และเพื่อจะให้แรงงานเป็นบรรทัดฐาน ต้องว่ากันตามเวลาที่ใช้หรือความหนักเบาของมัน ถ้าไม่แล้วก็ถือเป็นบรรทัดฐานไม่ได้”.....และ “สิทธิเสมอภาคนี้เป็นสิทธิของ
”ความไม่เสมอภาค”สำหรับแรงงานที่ไม่เท่าเทียมกัน”มันไม่ได้รับรองความเหลื่อมล้ำใดๆทางชนชั้น แต่มันรับรองโดยดุษฎีของสติปัญญาที่ไม่เท่าเทียมกัน”
จากคำกล่าวของมาร์กซที่ยกมานี้พอจะเห็นได้ว่า อะไรคือความเสมอภาค มันเป็นความเสมอภาคของใคร เสมอภาคอย่างไรและใช้อะไรมาเป็นบรรทัดฐาน ดังนั้นในสังคมทุนนิยม..แม้แต่คำขวัญ “เสรีภาพ เสมอภาค
ภราดรภาพ”
ของการปฏิวัติฝรั่งเศสอันลึอลั่นนั้นก็ไม่เคยเป็นจริงและไม่เคยมีอยู่จริง ส่วนประเด็นการยกเลิกการขูดรีดและยกเลิกสิทธิ์อันไร้ความชอบธรรมนั้น ในระบอบสังคมนิยมมีความชัดเจนอยู่แล้ว คือต้องยกเลิกสิทธิของผู้กดขี่ทั้งมวลไม่มีการยกเว้น
ไม่ใช่เลือกที่จะยกเลิกเฉพาะสิทธิ์หรืออภิสิทธิ์ของใครบางคนเท่านั้น
สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ไม่มีความคิดที่จะดำรงสถานภาพและอภิสิทธิ์ของชนชั้นผู้กดขี่เอาไว้ แต่ยินดีให้พวกเขาได้ใช้วิชาความรู้มาช่วยสร้างสังคมใหม่ในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่ตกค้างมาจากสังคมเก่าฉันท์พี่น้องร่วมชาติ แต่จะไม่ยอมรับฐานะของปัญญาชนปฏิกิริยาที่ต่อต้านการปฏิวัติ
ดังนั้นสังคมนิยมในความหมายของชาวมาร์กซคือ”สังคมนิยมวิทยาศาสตร์”เพียงอย่างเดียว
ไม่มีอย่างอื่น
เป็นสังคมที่ชนชั้นผู้ถูกกดขี่ลุกขึ้นมาโค่นล้มชนชั้นผู้กดขี่เพื่อสถาปนาอำนาจรัฐของชนชั้นตนขึ้น
มาแทนโดยมีกรรมกรเป็นกองหน้าร่วมกับผู้ที่ถูกกดขี่ทั้งมวล เป็นสังคมที่ชนชั้นกรรมาชีพเป็นเจ้าของอำนาจรัฐหรืออยู่ในฐานะของชนชั้นปกครอง
นอกเหนือจากนี้แล้ว ถือว่าเป็นแนวคิดเพ้อฝันที่หลอกตัวเองว่าเป็นสังคมนิยมเท่านั้น แม้ปัจจุบันจะมีนักคิดมากมายที่พยายามจะวิเคราะห์ชนชั้นในสังคมบนพื้นฐานของทุนนิยมสมัยใหม่ โดยใช้ปัจจัยทางเทคโนโลยี่ และลักษณะการทำงาน การผลิต
การจ้างงานเข้ามาร่วมพิจารณาด้วยนั่นถือว่าได้พัฒนาขยายคำสอนของมาร์กซ ให้สมบูรณ์ขึ้นตามยุคสมัย มีการจำแนก”ชั้นชน” ของ”ชนชั้น”หนึ่งๆในเชิงพัฒนาการที่เป็นจริงของสังคมแต่ก็ยังอยู่ในยัง สัจธรรมของลัทธิมาร์กซดั้งเดิมอยู่ โดยเฉพาะเรื่อง ”ชนชั้นและการต่อสู้ทางชนชั้น”
ส่วนคำถามที่ว่าทำไม? และด้วยสาเหตุใด? จึงมีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมนิยมไปเป็นลัทธิเผด็จการขุนนางแบบสตาลิน นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรหากจะลองมาพิจารณาทัศนะของ
อันโตนิโย กรัมชี นักลัทธิมาร์กซ
ชาวอิตาลีที่ให้ข้อสรุปที่เป็นวิภาษวิธีว่า “เมื่อการปฏิวัติสิ้นสุดลง กระบวนการใหม่ ความขัดแย้งแบบใหม่คู่ใหม่ก็จะเกิดขึ้นและพัฒนาไป ในวิถีของประวัติศาสตร์เราจะเห็นว่าคู่ความขัดแย้งระหว่างปัญญาชน(ปฏิวัติ)กับกรรมาชีพได้เกิดคุณภาพใหม่ให้แก่การปฏิวัติ นั่นคือ
ระบอบขุนนาง” และทัศนะของ โรซ่า ลุกเซมบวร์ก ที่ได้วิจารณ์ปัญหาการรวมศูนย์ประชาธิปไตยที่ตายตัว
และท่วงทำนอง ”ขุนนาง” ของผู้นำปัญญาชนภายในพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันว่า มันจะเป็นมูลเหตุหนึ่งของการเปลี่ยนสีแปรธาตุได้ในอนาคต
ซึ่งคำวิจารณ์ของเธอนั้นช่างศักดิ์สิทธิ์และเป็นจริงเสียนี่กระไร
!!!
ถ้าใครก็ตามสนใจศึกษาแนวคิดของมาร์กซิสต์ท่านอื่นๆที่นอกเหนือไปจากของปรมาจารย์ และแอนตี้มาร์กซิสต์ทั้งในอดีตและปัจจุบันบ้าง ก็จะไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าทำไมทุกวันนี้ประเทศที่เรียกตัวเองว่า
”สังคมนิยม” ที่เคยผ่านความปวดร้าวขมขื่นของการถูกกดขี่ขูดรีดในระบอบทุนนิยมมาแล้วในอดีตจึงถูก วิพากษ์วิจารณ์ว่ากำลังเดินถอยหลังกลับไปสู่ระบอบทุนนิยมอีก มันเป็นความจริงหรือไม่? ถ้าจริง...มันเป็นเพราะอะไร? หรือเพราะว่าปฏิบัติไปตามการตีความทางทฤษฎีแบบเข้าข้างตนเอง? หรือเป็นเพราะว่าสู้กับความเข้มแข็งของระบอบทุนนิยมโลกไม่ได้
? หรือเพราะว่าจิตสำนึกของชนชั้นกรรมาชีพในประเทศเหล่านั้นกำลังแปรเปลี่ยนไป? หรือเป็นเพราะว่าเกิดระบอบขุนนางขึ้นภายในพรรค? เป็นเรื่องที่น่าติดตามศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ส่วนข้อสังเกตเรื่องสังคมนิยมแบบ ”บนสู่ล่าง”
หรือจาก ”ล่างสู่บน” นั้น ไม่ใช่วิธีจำแนกความ
”เป็น” หรือ “ไม่เป็น” สังคมนิยมแต่อย่างใด เพราะไม่มีพื้นฐานทางทฤษฎีใดๆมารองรับ มันเป็นเพียงรูปแบบการจัดการที่ขึ้นอยู่กับความจำเป็นในขั้นตอนของการปฏิวัติในแต่ละแห่ง หรือเป็นการแสดงออกถึงรากเหง้าของรูปการจิตสำนึกทางชนชั้นมากกว่า
สังคม”สังคมนิยม”นั้นกล่าวได้ว่ายังไม่มีใครไปถึง รูปแบบของมันจึงไม่น่าจะมีความจำกัดว่าต้องเป็นแบบหนึ่งแบบใด การสร้างสังคมนิยมหลังการปฏิวัติ.....คือการสร้างสังคมใหม่ขึ้นบนซากปรักหักพังของสังคมเก่าที่ถูกโค่นล้มลงไปได้ไม่นาน เศษเดนความคิดและวัฒนธรรมของมันยังหลงเหลืออยู่ ทั้งประชาชนเองก็ยังมีความเคยชินและมีความสัมพันธ์กับสิ่งเดิมๆเหล่านี้อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ปัจจัย หลักที่ไม่อาจละเว้นคือ....จะต้องปลดปล่อยประชาชนให้หลุดพ้นจากการครอบงำของเศษเดนความคิดและวัฒนธรรมเก่าที่หลงเหลืออยู่เหล่านี้ให้ได้
สังคมนิยมไม่ใช่ลัทธิ ”เฉลี่ยสมบูรณ์” คือไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างสม บูรณ์อย่างที่ชนชั้นนายทุน ผู้แก้ต่าง และพวกปฏิปักษ์ปฏิวัติได้พร่ำพรรณาไว้ หากแต่ต้องการสร้างสังคมที่ปราศจากการกดขี่ขูดรีด ทำให้ประชาชนมีความสุข มีงานทำ กินอิ่ม นอนหลับ
มีปัจจัยในการดำรงชีวิตและมีหลักประกันในชีวิตอย่างเพียงพอ การกักขังตัวเองอยู่ในกรอบทฤษฎีอย่างเคร่งเคร่งครัดจนไม่ยอมกระดิกกระเดี้ยเพราะกลัวผิดนั้น ไม่ใช่เป็นการแสดงความซื่อสัตย์ต่อหลักการของสังคมนิยมแต่อย่างใดหากแต่เป็นเพียงซื่อตรงต่อตัวอักษรที่เขียนไว้เท่านั้น อีกทั้งยังละเมิดกฎเกณฑ์ของปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษที่ว่า
“สรรพสิ่งเปลี่ยนแปลง พัฒนาตลอดเวลา” อีกด้วย และมันก็ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความมีคุณธรรมที่ล้ำเลิศและเป็นผลดีต่อการปฏิวัติแต่อย่างใด หากจะเป็นการฉุดรั้งทำ ลายการปฏิวัติเสียมากกว่า ขอเพียงยึดมั่นในหลักการของลัทธิมาร์กซ มั่นคงในจิตสำนึกและจุดยืนของชนชั้นกรรมาชีพ ถนัดที่จะศึกษาพัฒนาทฤษฎีแล้วนำไปประยุกต์
ใช้ให้เป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติ
การปฏิวัติและการสร้างสังคมนิยมจึงจะมีความเป็นไปได้ หากยังยืนยันยึดมั่นในความเข้าใจสังคมนิยมแบบที่ได้วิพากษ์วิจารณ์มานั้น ความหวังที่จะสร้างแม้แต่สังคมนิยมยูโธเปียหรือสังคมนิยมอุดมคติคงจะเป็นความสูญเปล่าอย่างแน่นอน
สัจธรรมในเรื่องใดๆนั้นมีอยู่เพียงหนึ่งเดียวแต่หนทางที่จะเข้าถึงนั้นมีหลายทาง ในอนาคตอาจจะมีปรัช ญาอื่นใดที่สามารถแก้ปัญหาสังคมได้ดีกว่าลัทธิมาร์กซก้ก็เป็นได้ เพราะกฎข้อหนึ่งของปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษซึ่งเป็นพื้นฐานของลัทธิมาร์กซมีอยู่ว่า “สรรพสิ่งเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงและพัฒนาจากคุณภาพเก่าไปสู่คุณภาพใหม่อยู่ตลอด เวลา”
สิ่งหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ด้วยความปรารถนาดีคือ การที่ชนชั้นนายทุนประสบความสำเร็จอย่างมากมายในหลายร้อยปีที่ผ่านมาก็คือ พวกเขาได้สร้างระบบความคิดและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ได้สร้างปัญ ญาชนของชนชั้นตนขึ้นมาในทุกๆด้านและสามารถนำมาใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ แล้วคนที่คิดว่าตัวเองเป็นชาวมาร์กซนั้น จะสามารถสร้างปัญญาชนของชนชั้นกรรมาชีพที่มีจิตสำนึกปฏิวัติและความเข้มแข็งทางทฤษฎีขึ้นมาเพื่อสร้างสังคม
”สังคมนิยม” ได้อย่างไร? หากผู้ที่คิดว่าตนเป็นนักปฏิวัติที่ยึดถือในหลักการของลัทธิมาร์กซทั้งหลายยังไม่ยอมพัฒนาความคิด ไม่ยอมยกระดับจิตสำนึก แม้แต่หลักการสำคัญทางทฤษฎีก็ยังไม่อาจยึดกุมได้ โอกาสที่จะสถาปนาสังคมใหม่ขึ้นมานั้นคงเป็นไปได้แค่ในความฝัน โปรดอย่าลืมว่าชั้นปกครองไม่ได้นิ่งเฉยอยู่บนความประมาทแต่อย่างใด...พวกเขามีการเคลื่อนไหวพัฒนา!!!!!
หมายเหตุ*** บทความชิ้นนี้ เคยลงในเวปไซท์ ไฟลามทุ่ง เมื่อหลายปีมาแล้ว เราเห็นว่าเป็นบทความที่มีประโยชน์ จึงได้นำมาเสนออีกครั้ง โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของให้เผยแพร่ได้ และยังกรุณาแก้ไข เพิ่มเติม ตัดทอนในบางเรื่องเพื่อความกระชับ