ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในทัศนะวิภาษวิธี
เราได้ศึกษาหลักการเบื้องต้นของวิภาษวิธีมาแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้พิจารณาวิเคราะห์และปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะบางครั้งเราไม่สามารถแยกแยะปรากฏการณ์ต่างๆได้อย่างสมเหตุผล หรือไม่ก็ยังมีความสับสนต่อปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่มีความซับซ้อนอยู่ ความรู้ความเข้าใจต่อโลกธรรมชาติอย่างเป็นวิภาษวิธีนั้น แสดงออกด้วยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ ระหว่างปรากฏการณ์ต่างๆ ดังนั้น.จึงมีความความจำเป็นที่จะศึกษาให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีกเพื่อยกระดับความรับรู้ทางด้านทฤษฎีของเราให้สูงขึ้น อันจะนำไปใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อชี้นำในการปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นเราจะเริ่มต้นที่ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งหรือปรากฏการณ์ต่างๆดังต่อไปนี้
1. ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผล โลกธรรมชาติที่ล้อมรอบตัวเราอยู่นี้เป็นปรากฏการณ์หลาก หลายชนิดที่มีความแตกต่างกัน
ในความเป็นจริงแล้วแม้มันจะมีความแตกต่างกันแต่ก็มีความสัมพันธ์กันไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
และเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อความคิดหรือความต้องการของมนุษย์ รูปแบบของความสัมพันธ์ที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุดก็คือความสัมพันธ์ของ
เหตุและผล เพราะการหาเหตุหาผลนั้นมนุษย์ได้กระทำมาตลอดระยะประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้เองแนวคิดของมนุษย์จึงแยกออกเป็นสองทางอันเป็นรากฐานทางปรัชญาสองแขนงคือ
จิตนิยม และ วัตถุนิยม ที่สืบทอดกันมาจนถึงบัดนี้
การเกิดขึ้นของเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ใดๆนั้น จะต้องมี เหตุ เป็นตัวก่อจึงจะทำให้เกิดผลได้ ปรากฏการณ์นั้นคือผลหรือผลต่อเนื่องที่เกิดจากเหตุ เช่นการทำรัฐประหารคือผลที่เกิดจากความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ความขัดแย้งทางผลประโยชน์นั่นคือตัวเหตุที่ทำให้เกิดรัฐประหาร ความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลนี้ย่อมมีเวลากำกับอยู่คือ เหตุเป็นสิ่งที่มาก่อนแล้วผลจึงตามมา แต่ก็ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ตามกันมาบางชนิดจะเป็นเหตุเป็นผลของความสัมพันธ์อันนี้ เช่นกลางคืนตามตามหลังกลางวันหรือกลางวันตามหลังกลางคืนไม่ใช่เพราะมันเป็นเหตุเป็นผลของกันและกัน แต่เรารู้ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดกลางวันและกลางคืนเพราะโลกหมุนรอบแกนของตัวเอง
แต่การที่ให้จะเกิดผลได้นั้นต้องไม่มีสิ่งใดเข้ามาขัดขวางเหตุ เช่นเมื่อเราเหนี่ยวไกปืนที่บรรจุกระสุนไว้โดยปกติแล้วกระสุนจะต้องแล่นออกไป แต่บางทีก็ไม่ลั่น..นั่นไม่ได้หมายความว่าความ สัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลขาดตอนไป เพียงแต่มีปัจจัยอื่นเข้ามาแทรกมิให้ปืนลั่นเท่านั้น อาจเป็นเพราะสปริงของไกปืนอ่อน หรือดินปืนชื้น หรือกระสุนหมดสภาพเป็นต้น เมื่อทำการสืบค้นอย่างละเอียดแล้วเราจะสามารถรู้ถึงสาเหตุที่ปืนไม่ลั่น ทำให้ไม่เกิดปรากฏการณ์อย่างที่หวังเอาไว้ได้
การที่เหตุจะก่อผลขึ้นมานั้นก็จำเป็นต้องมีเงื่อนไขบางอย่าง เงื่อนไขต่างๆเป็นปรากฏการณ์ที่จำเป็นสำหรับการเกิดเหตุการณ์อย่างหนึ่ง แต่เงื่อนไขเหล่านั้นไม่ทำให้เหตุเกิดขึ้นได้โดยตรง
ตัวอย่างเช่นประชาชนในประเทศหนึ่งต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ในสังคมที่ว่านี้มีเงื่อนไขที่ดีหลายอย่างที่เอื้ออำนวยต่อการเปลี่ยนแปลง เช่นบ้านเมืองปกครองด้วยกลุ่มเผด็จการ ประชาชนส่วนใหญ่มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างยากจนข้นแค้นขาดแคลนวัตถุปัจจัยในการดำรงชีวิต
ถูกเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ข่มเหงอย่างไม่เป็นธรรม มีการทุจริตในการบริหารบ้านเมืองทุกระดับ ฐานะทางเศรษฐกิจระหว่างชนชั้นมีความแตกต่างกันมาก
ฯลฯ เงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ไม่สามารถทำให้เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้ จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการกระทำขึ้น แต่ประชาชนผู้ถูกกดขี่กลับปล่อยให้ชีวิตดำเนินไปตามยถากรรมโดยไม่คิดที่จะดิ้นรนต่อสู้ หากจะต่อสู้ก็เป็นไปเองตามธรรมชาติ ไม่มีพรรคการเมืองของประชาชนที่ไว้ใจได้มาชี้นำ ขาดการฝึกฝนบ่มเพาะโดย
เฉพาะไม่มีบทเรียน ความจัดเจน
แนวทางทฤษฎี และจิตสำสำนึกในการเคลื่อนไหวต่อสู้ ฯลฯ มีแต่ต้องลงมือทำอย่างจริงจังเท่านั้นจึงเป็นเหตุที่แท้จริงอันจะนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมได้
มีบ่อยครั้งที่เรามักจะเกิดความสับสนระหว่าง เหตุ กับ โอกาส โดยหลงเอาโอกาสไปเป็นสาเหตุโดย เฉพาะอย่างยิ่งในปรากฏการณ์ที่มีความสลับซับซ้อน เนื่องมาจากทัศนะที่มองสรรพสิ่งอย่างผิวเผินทำให้ไม่เห็นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ การเพิกเฉยต่อเหตุที่แท้จริงของปรากฏการณ์ไม่เพียงแต่จะทำให้เราไม่เข้าใจปรากฏการณ์ได้อย่างมีจิตสำนึกเท่านั้น ยังเกิดความโน้มเอียงไปสู่ความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์อีกด้วย ส่วนโอกาสนั้นไม่สามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์ใดๆขึ้นมาได้หากเป็นแรงกระตุ้นให้เหตุที่แท้จริงทำงาน
ตัวอย่างเช่นสหรัฐฯทิ้งระเบิดปรมาณูที่ญี่ปุ่น ในความเป็นจริงญี่ปุ่นจะต้องยอมแพ้อย่างแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่งเนื่องมาจากถูกสหรัฐฯปิดล้อมทางทะเลอย่างหนัก
การทิ้งระเบิดปรมาณูจึงเป็นโอกาสในการช่วงชิงอิทธิพลเหนือญี่ปุ่นแข่งกับรัสเซีย(ที่กำลังรุกมาทางตะวันออก) ไม่ใช่เพราะว่าเพื่อต้องการรักษาชีวิตของทหารอเมริกันและญี่ปุ่นที่จะต้องสูญเสียไปหากต้องยกพลบุกขึ้นเกาะญี่ปุ่นเพื่อเผด็จศึกอย่างที่กล่าวอ้างและเชื่อกันมา และเป็นการเตือน(ขู่)รัสเซียไม่ให้ขยายอิทธิพลมาทางตะวันออกไกลเพื่อแข่งกับตนนั่นเอง(ตอนนั้นรัสเซียยังไม่มีระเบิดปรมาณู)
ดังนั้นการเข้าใจที่ถูก ต้องด้วยการแยกสาระสำคัญออกจากสาระที่ไม่สำคัญนั้น จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในการวิเคราะห์สรรพสิ่ง