Friday, February 20, 2015

เศรษฐศาสตร์การเมืองเบื้องต้น

ปัจจุบันนี้ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจทุนนิยม    ทำให้มวลชนกรรมกรจำต้องรีบเร่งพัฒนาความรับรู้ของตนในเรื่องเศรษฐกิจให้มากขึ้น    ต้องพยายามทำความเข้าใจต่อพลังที่ครอบงำการดำรงชีพของพวกเราอยู่        เอกสารนี้เป็นการนำเสนอเศรษฐศาสตร์แบบลัทธิมาร์กซหรือที่นิยมเรียกกันว่าเศรษฐ ศาสตร์การเมือง         ด้วยมีความตั้งใจที่จะยกระดับจิตสำนึกของกรรมกรเราเกี่ยวกับความรับรู้ในเรื่อง  ศาสตร์เบื้องต้น      ซึ่งจะได้ชี้ให้เห็นถึงลักษณะและกฎขั้นพื้นฐานของระบอบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่กำลังครอบงำการดำรงชีวิตของเราอยู่ในทุกวันนี้   
ความไม่ลึกซึ้งพอของเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมได้แสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพในความเข้าใจวิกฤตการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อระบบของตัวมันเอง    มันได้แสดงบทบาทเพียงเพื่อปกปิดซ่อนเร้นการเอารัดเอาเปรียบที่กระทำต่อกรรมกรทั้งหลาย    และพยายามจะพิสูจน์ให้เห็นว่าระบอบทุนนิยมเป็นระ บอบที่ดีที่สุดของสังคมเท่านั้น?   ทฤษฎีและวิธีแก้ปัญหาของมันไม่อาจเยียวยารักษาความเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นโรคร้ายโดยธรรมชาติของระบอบทุนนิยม    มีแต่ต้องเปลี่ยนแปลงสังคมไปในวิถีแห่งสังคมนิยมเท่านั้นจึงจะสามารถหยุดยั้งฝันร้ายของ ความซบเซา ความยุ่งเหยิงทางเศรษฐกิจและการว่างงานได้
ชนชั้นปกครองอนุรักษ์นิยมไม่ยอมรับ เคนส์ พระเจ้าองค์เก่าอีกต่อไป    และหันไปใช้วิธีทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมมาแก้ไขวิกฤติ     ไม่ว่าจะเป็นการตัดลด(cuts) เช่นลดค่าจ้าง ลดสวัสดิการ ลดเงินบำนาญ ลดการจ้างงานและการชะลอการผลิตเป็นต้น       บรรดานักปฏิรูปปีกซ้ายยังคงยึดติดกับนโยบายของระบอบทุนนิยมที่เคยใช้กันมาเช่น  การอัดฉีดเงินเข้าระบบ  ควบคุมการนำเข้า ฯลฯเป็นที่รู้กันดีถึงความไร้ประสิทธิภาพภายใต้ระบอบทุนนิยม       มีแต่ความเข้าใจระบอบทุนนิยมแบบลัทธิมาร์กซเท่านั้นจิต สำนึกของมวลชนกรรมกรจึงจะสามารถทะลุผ่านการบิดเบือนของนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมและคัดค้านอิทธิพลของมันด้วยการเคลื่อนไหวทางด้านต่างๆโดยเฉพาะในด้านแรงงาน
เองเกลส์ได้กล่าวไว้ว่า  “หลักการของการแบ่งงานกันทำตั้งอยู่บนรากฐานของการแบ่งแยกทางชนชั้น”  เมื่อสังคมมีการแบ่งงานกันทำ    ก็เนื่องมาจากสาเหตุที่มีผลผลิตส่วนเกินนอกเหนือไป จากการผลิตเพื่อดำรงชีพ       สังคมในขณะนี้จึงมิได้ประกอบด้วยแรงงานจำเป็นอย่างที่เคยเป็นแล้ว เพราะผลผลิตจากแรงงานบางส่วนถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยคนส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ทำการผลิตเพื่อประ ทังชีวิตของพวกเขา,แต่ยังชีพอยู่ได้โดยอาศัยแรงงานของผู้อื่น       สถานการณ์เช่นนี้..คนส่วนที่รับผลผลิตจากแรงงานส่วนเกินเพื่อการดำรงชีพจึงกลายไปเป็นชนชั้นปกครอง    ในสังคมจึงได้เกิดแรง งานขึ้นมาอีกชนิดหนึ่งที่นอกเหนือไปจากแรงงานจำเป็นเรียกว่าแรงงานส่วนเกิน       เราสามารถจำแนกได้ว่าผลผลิตที่ผลิตขึ้นเพื่อการยังชีพนั้นมาจากแรงงานจำเป็น      ส่วนผลผลิตที่เกินไปจากความจำเป็นในการเลี้ยงชีพเรียกว่าผลผลิตส่วนเกินผลิตโดยแรงงานส่วนเกินของชนชั้นกรรมกรที่ถูกชนชั้นปกครองแย่งยึดเอาไป   ไม่ว่าจะเป็นผลผลิตตามธรรมชาติ สินค้า หรือเงินตรา
ฐานะของทุนนิยม    ขณะนี้การผลิตแบบทันสมัยได้รวมศูนย์อยู่ในมือของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย  เช่น ลีเวอร์บราเดอร์ส  ปตท. ซีพี  ปูนซีเมนต์ ฯลฯ  บวกกับธนาคารและบริษัทธุรกิจการเงินขนาดใหญ่ทำให้ชีวิตของประชาชนไทยต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของบริษัทที่ยกต้วอย่างมานี้      จริงอยู่แม้ ว่ากิจการเล็กๆยังสามารถดำรงอยู่ได้.แต่ก็เป็นเพียงตัวแทนของอดีตเท่านั้นไม่ใช่สำหรับอนาคต(เพราะ    ไม่นานก็จะถูกกลืน)   การผลิตสมัยใหม่เป็นระบบที่จำเป็นต้องผลิตสินค้าเป็นจำนวนมากและเป็นธุรกิจที่มีขอบเขตกว้างขวาง       ในยุคสมัยของมาร์กซ...เมื่อนักเศรษฐศาสตร์แนวหน้าได้ทำนายถึงระบบเศรษฐกิจในอนาคตว่าจะเป็นระบบการค้าเสรี         ในขณะที่มาร์กซได้อธิบายถึงพัฒนาการของระบบผูกขาดที่มาจากการแข่งขัน..จะทำให้บริษัทเล็กๆต้องหันหลังชนกำแพง และมีทางเลือกอยู่เพียงสองทางคือ  หากไม่ถูกกลืนกินไปก็ต้องเลิกกิจการ    ระบบทุนนิยมผูกขาดจึงได้เติบโตขึ้นและไม่ได้สนใจต่อการแข่งขันอย่างเสรี
แรกทีเดียว....สินค้าและสิ่งต่างๆได้ผลิตขึ้นมาด้วยจุดประสงค์หลักก็เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของมนุษย์และเป็นที่ชัดเจนว่ามันเกิดขึ้นในทุกๆสังคม     แต่ภายใต้ระบอบทุนนิยม....สินค้าไม่ได้ผลิตขึ้นมาเพียงเพื่อสนองความพอใจและความต้องการของใครคนใดคนหนึ่ง     หากแต่เป้าประสงค์แรกสุดก็คือการ ”ขาย” ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งของระบบอุตสาหกรรมแบบทุนนิยม      เหมือนที่อดีตประธานบริษัทผลิตรถยนต์ใหญ่แห่งหนึ่งได้กล่าวว่า “ผมทำธุรกิจเพื่อทำเงิน  ไม่ใช่รถยนต์”  คำ พูดประโยคนี้เป็นการแสดงถึงความปรารถนาที่สมบูรณ์แบบของชนชั้นนายทุน     
ระบบการผลิตแบบทุนนิยมต้องการปัจจัยที่มีอยู่ 2 ประการคือ   หนึ่ง.การมีอยู่ของชนชั้นผู้ไร้สมบัติจำนวนมหาศาล...ซึ่งหมายถึงกรรมกรผู้ถูกบีบให้ขายแรงงานของตนเพื่อแลกกับอาหารสำหรับประทังชีวิต     ดังนั้นทัศนะคติเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตยในการเป็นเจ้าของทรัพย์สิน”   ของพวกอนุรักษ์นิยมจึงเป็นทัศนะที่เหลวไหลอย่างมากภายใต้ระบอบทุนนิยม     เพราะหากว่าประชาชนส่วนใหญ่สามารถเป็นเจ้าของในสิ่งที่ตนต้องการแล้ว      ชนชั้นนายทุนคงไม่อาจหากรรมกรมาทำงานเพื่อทำ “กำไร” ให้แก่ตนได้      สอง.ปัจจัยการผลิตจะต้องรวมศูนย์อยู่ในมือของนายทุน     เป็นเวลามากกว่าศตวรรษที่บรรดาชาวนาและผู้ถือครองปัจจัยในการดำรงชีพได้ถูกบดขยี้ลงอย่างไร้เมตตาธรรม    และปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้ถูกนายทุนและเจ้าที่ดินแย่งยึดเอาไป     และจ้างกรรมกรทำงานโดยใช้ปัจ จัยการผลิตเหล่านั้นมาสร้างผลผลิตและกำไรส่วนเกินให้แก่ตนเอง
สินค้า และ มูลค่า     ระบบทุนนิยมทำงานอย่างไร?...ทำไมกรรมกรจึงถูกเอารัดเอาเปรียบ?...กำไรมาจากไหน?...อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจ    การจะตอบคำถามเหล่านี้แรกสุดเรามีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้กุญแจที่ไขไปสู่ความลับเสียก่อนว่า... ....อะไรคือมูลค่า (value)?  เราจึงจะสามารถตอบปัญหาเหล่านี้ได้และคำถามเรื่องอื่นๆก็จะตกไป    ความเข้าใจเรื่องมูลค่านี้เป็นเรื่องที่จำเป็นที่สุดในการทำความเข้าใจระบบเศรษฐศาสตร์ของสังคมทุนนิยม       เราจะมาเริ่มต้นที่บรรดาบริษัทผลิตสินค้าหรือบริการในระบอบทุนนิยมกันก่อน        สินค้าพวกนี้ผลิตเพื่อขายอย่างเดียวและแน่นอนอาจมีบ้างที่ผลิตเพื่อใช้สอยส่วนตัว      
ก่อนที่ระบอบทุนนิยมจะเกิดขึ้น,มนุษย์ได้ทำการผลิตมาแล้วแต่นั่นไม่ใช่ “สินค้า” การผลิตแบบทุนนิยมได้สร้างและสะสมสินค้าขึ้นมาเป็นจำนวนมาก      และนั่นเป็นสาเหตุให้มาร์กซได้เริ่มตรวจสอบระบอบทุนนิยมด้วยการวิเคราะห์ลักษณะเฉพาะของตัว “สินค้า”  และสรุปได้ว่า   สินค้าคือสิ่งใดๆที่สามารถ สนองความต้องการของมนุษย์ได้  แลกเปลี่ยนได้    ประโยชน์ของสินค้าแต่ละชนิดย่อมเป็นสิ่งที่กำหนดมูลค่าของมัน  แต่ถ้าหากสิ่งใดๆไม่ได้ถูกใช้สอยย่อมไม่เกิดมูลค่า   ตัวอย่างเช่นมูลสัตว์เมื่อทิ้งไว้เฉยๆก็ไม่เกิดมูลค่าแต่อย่างใด      แต่เมื่อมีความต้องการใช้ประโยชน์โดยการนำไปทำปุ๋ยก็จะเกิดมูลค่าขึ้นมาทันทีนั่นคือ “มูลค่าใช้สอย”     มาร์กซกล่าวว่า “สิ่งหนึ่งสามารถมีมูลค่าใช้สอยได้  แต่ไม่มีมูลค่า   นั่นคือตราบเท่าที่สิ่งนั้นมนุษย์นำมาใช้สอยได้แต่ไม่ได้เกิดจากแรงงานเช่นอากาศ  ทะเล  แม่น้ำ ฯลฯ”   (แต่ในปัจจุบันอาจจะแตกต่างไปจากทัศนะของมาร์กซ เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยี)
นอกจากจะมีมูลค่าใช้สอยแล้วมันยังจะต้องผ่านการแลกเปลี่ยน,แล้วหมุนเวียนไปอยู่ในมือคนอื่นๆ ลักษณะที่มันจะแลกเปลี่ยนกับผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้ดังกล่าวนี้เราเรียกว่า “มูลค่าแลกเปลี่ยน”   ผลิตผลใดที่มนุษย์ผลิตขึ้นมาเพื่อใช้เองโดยไม่ได้นำไปแลกเปลี่ยนก็ยังไม่นับว่าเป็นตัวสินค้า   เช่นชาวนานำ ข้าวที่ผลิตได้ไปชำระค่าเช่าแก่เจ้าที่ดินโดยมิได้ค่าตอบแทนและไม่ได้แลกเปลี่ยนโดยผ่านการซื้อขายในกรณีเช่นนี้ข้าวจึงยังไม่ใช่สินค้า    ในขณะที่สินค้าต่างๆสามารถจะนำมาเปรียบเทียบกันได้สามารถที่จะสร้างความสัมพันธ์เป็นสัดส่วนกันทางจำนวน   ดังนั้นมูลค่าของสินค้าแต่ละชนิดจึงมี ”อะไร” ร่วมกันอยู่....นั่นคือแรงงานมนุษย์ที่ต้องสิ้นเปลืองไปในการผลิตสินค้า    แม้ว่ามูลค่าใช้สอยของสินค้าแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน     แต่การสิ้นเปลืองแรงงานกลับเหมือนกันเพราะว่าสินค้าทุกชนิดล้วนเป็นผลิตผลของการใช้แรงงานที่แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมด้วยระยะเวลาเป็นเดือน  สัปดาห์  วัน  ชั่วโมง ฯลฯ
ในสังคมทุนนิยมนั้นการผลิตสินค้าคือการผลิตมูลค่าในการแลกเปลี่ยน   มันได้บรรลุถึงการพัฒนาการ ที่สูงสุดและก้าวหน้าที่สุดของสังคม    ผู้ผลิตสินค้าทำการผลิตโดยมิได้มุ่งหวังเพื่อความต้องการมูลค่าในการใช้สอย   แต่มุ่งหวังให้เกิด มูลค่า ขึ้น เพื่อจะแลกกับสินค้าอย่างอื่นได้  เช่นช่างเหล็กไม่ได้หวังที่จะใช้ประโยชน์ในการใช้จอบเสียมที่เขาผลิตขึ้น       ความปรารถนาของเขาก็คือนำเอาจอบเสียมไปขายเพื่อให้มันเกิดมูลค่า      ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างแรงงานส่วนตัว และ แรงงานสังคม   อีกประประเด็นหนึ่งที่ว่า..ทำไมถึงกล่าวว่าการผลิตมีลักษณะสังคม?   ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่ามูลค่าใช้สอยที่ผู้ผลิตสินค้าได้ผลิตออกมานั้นมิได้สนองต่อความต้องการของพวกเขา   หากแต่เป็นการสนองต่อความต้องการของสังคม    ดังนั้นแรงงานของผู้ผลิตจึงมีลักษณะสังคม
แรงงานเฉลี่ย    ถ้าเรามองถึงประโยชน์ใช้สอยในตัวสินค้า   เราก็จะเห็นแต่เพียงว่า รองเท้า  หมวก ฯลฯ เป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นมาโดยแรงงานของกรรมกร...ซึ่งก็คือแรงงานของช่างทำรองเท้า  แรงงานของช่างทำหมวกเรียกว่า แรงงานรูปธรรม ซึ่งสร้างมูลค่าใช้สอย มันมีลักษณะเฉพาะ    แต่ในการแลก เปลี่ยนสินค้านั้นมุมมองจะแตกต่างออกไป เพราะลักษณะพิเศษที่ถูกมองข้ามก็คือเวลาเฉลึ่ยในการใช้แรงงาน     ดังนั้นในการแลกเปลี่ยนสินค้าเราจึงต้องคำนึงถึงจำนวนแรงงานที่มนุษย์ใช้ไปในการผลิตสินค้าด้วย   และแน่นอน...สินค้าที่ผลิตโดยแรงงานมีฝีมือที่มีความชำนาญย่อมมีมูลค่าโดยเฉลี่ยแล้วมากกว่าสินค้าที่ผลิตโดยแรงไร้ฝีมือ    แต่ทว่าในการแลกเปลี่ยน....จำนวนแรงงานที่มีฝีมือกลับถูกทำให้ลดน้อยลงในอัตราเฉลี่ยเท่ากับแรงงานที่ไม่มีฝีมือ    อธิบายง่ายๆก็คือ,สินค้าถูกนำไปขายในตลาดผู้ซื้อเห็นแต่ตัวสินค้าไม่เห็นผู้ผลิตพวกเขายอมรับเฉพาะปริมาณทางมูลค่าเพียงอย่างเดียว    แต่มูลค่าของสินค้าถูกพิจารณาโดยจำนวนของแรงแรงงานเฉลี่ย    ดังนั้นมูลค่าของสินค้าจึงไม่สามารถกำหนด โดยระยะเวลาของการใช้แรงงานที่มีลักษณะทั่วไป     เราเรียกแรงงานชนิดนี้ว่าแรงงานนามธรรม    ซึ่งก็คืออัตราเฉลี่ยของแรงงานที่ใช้ไปในการผลิตสินค้า,มีลักษณะทั่วไป    เป็นแรงงานที่สร้างมูลค่าแลกเปลี่ยน       ตัวอย่างรูปธรรมก็คือ...ในการผลิตถุงเท้า 10 คู่ แรงงานที่มีฝีมือจะใช้เวลา10 ชั่วโมง   แต่แรงงานไม่มีฝีมือจะใช้เวลา 14 ชั่วโมง     ดังนั้นแรงงานถัวเฉลี่ยที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนก็คือ 12 ชั่วโมง
เมื่อพูดถึงปริมาณการใช้แรงงานเป็นตัวกำหนดมูลค่า   มิใช่แต่จะจำแนกเวลาการใช้แรงงานส่วนตัวกับแรงงานจำเป็นของสังคมเท่านั้น    หากต้องจำแนกแรงงานมีฝีมือและแรงงานไร้ฝีมืออีกด้วย  สิ่งที่เรียกว่าแรงงานไม่มีฝีมือคือแรงงานที่ไม่ได้ผ่านการฝึกฝนทางเทคนิคเฉพาะเรื่อง   ในขณะที่แรงงานมีฝีมือจำต้องผ่านการฝึกฝนมาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง   การใช้แรงงานในการผลิตในสาขาต่างๆล้วนแล้ว แต่ต้องมีการฝึกฝนทักษะมาเป็นอย่างดี      เราจะเห็นว่าการตัดอ้อยย่อมไม่ต้องใช้ทักษะอะไรมากไป   กว่าการประกอบรถยนต์   เมื่อเป็นเช่นนี้แรงงานของคนตัดอ้อยย่อมไม่เท่ากับแรงงานของช่างประกอบรถยนต์ในเวลาทำงาน1ชั่วโมงเท่ากัน    เพราะถ้าเท่ากัน…..คนทั้งหลายก็ไม่จำเป็นต้องไปเล่าเรียนทักษะพิเศษอะไรกันแล้ว      ดังนั้นจึงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าแรงงานของช่างประกอบรถยนต์ย่อมมีค่ามากกว่าแรงงานของคนตัดอ้อยในระยะเวลาทำงานที่เท่ากัน       ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า  มูลค่าคือการใช้แรงงานของสังคมที่เป็นองค์ประกอบอยู่ภายในตัวสินค้า
ต่อประเด็นนี้มาร์กซได้กล่าวไว้ในนิพนธ์  “วิพากษ์นโยบายโกธา” เกี่ยวกับความเสมอภาคทางด้านแรงงานว่า “ความเสมอภาควัดกันโดยบรรทัดฐานเดียวกันคือแรงงาน   แต่ทว่าคนหนึ่งเหนือกว่าอีกคนหนึ่งในทางกำลังกายหรือสติปัญญา    ดังนั้นจึงสนองแรงงานได้มากกว่าในช่วงเวลาเดียวกัน   หรือทำงานได้มากกว่า    และเพื่อที่จะให้แรงงานเป็นบรรทัดฐาน  จะต้องว่ากันที่ระยะเวลาและความหนักเบาของมัน   มิฉะนั้นแล้วย่อมถือเอาเป็นบรรทัดฐานไม่ได้     สิทธิเสมอภาคนี้เป็นสิทธิที่ไม่เสมอภาคสำหรับแรงงานที่ไม่เท่าเทียมกัน    มันไม่รับรองความเหลื่อมล้ำใดๆในทางชนชั้น เพราะว่าทุกคนต่างก็เป็นผู้ใช้แรงงานเช่นเดียวกับคนอื่น    แต่ทว่ามันรับรองโดยดุษฎีถึงเชาว์ปัญญาที่ไม่เท่ากัน  ดังนั้นมันจึงเป็นการรับรองกันว่าความสามารถในการทำงานที่ไม่เท่าเทียมกันนั้นเป็นอภิสิทธิ์โดยธรรมชาติ… ”
มูลค่าส่วนเกิน     จากทฤษฎีความสัมพันธ์ของมูลค่ากับแรงงาน มาร์กซยังได้สร้างทฤษฎีมูลค่าส่วน เกินขึ้นมา  เป็นการฉีกหน้ากากของบรรดานายทุนทั้งหลาย    เราทราบกันว่า..ภายหลังการแบ่งงานกันทำแล้ว ทำให้มีการยอมรับในทรัพย์สินส่วนบุคคล   ดังนั้นสินค้าที่แต่ละคนผลิตขึ้นมาจึงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ผลิต     แต่สินค้าแต่ละชนิดนั้นจะต้องมีมูลค่าใช้สอยจึงจะสามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าตัวอื่นๆได้    สืบเนื่องมาจากการยอมรับกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล.. ทำให้เกิดค่านิยมของความเห็นแก่ตัว  มือใครยาวสาวได้สาวเอา    มีการเอารัดเอาเปรียบกันอย่างรุนแรง    นายทุนผู้เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตย่อมเห็นช่องทางในการขูดรีดกรรมกรที่ไร้ปัจจัยการผลิต     จึงเป็นบ่อเกิดของมูลค่าส่วนเกินหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคืออัตราการขูดรีดแรงงานนั่นเองซึ่งมีรูปธรรมดังนี้
1  การเพิ่มเวลาทำงาน  โดยให้ค่าจ้างเท่าเดิม เรียกว่ามูลค่าส่วนเกินแบบสัมบูรณ์ วิธีการเช่นนี้บรรดานายทุนในระยะต้นของระบอบทุนนิยมมักจะใช้กันอยู่เป็นประจำ   และได้รับการต่อต้านจากกรรมกรมาตลอดเช่นกัน     ดังนั้นนายทุนจึงคิดค้นวิธีขูดรีดแรงงานส่วนเกินขึ้นมาอีกได้แก่
2  กำหนดเวลาทำงานเท่าเดิม   แต่เร่งการผลิตให้เร็วขึ้นโดยวิธีต่างๆ(ใช้เทคโนโลยี่)เรียกว่ามูลค่าส่วนเกินสัมพัทธ์ 
ในปัจจุบันนี้การขูดรีดแรงงานส่วนเกินได้พัฒนาวิธีการใหม่ๆขึ้นอีกมากมายเช่นการเหมางาน  การนับชิ้นงาน  และบริษัทนายหน้าหาแรงงานให้กับโรงงานอุตสาหกรรม   การผลิตที่มีลักษณะเป็นสายการ ผลิต(process)ซึ่งบีบให้กรรมกรต้องทำงานตลอดเวลา   หากขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งสะดุดลงกระบวน การผลิตทั้งกระบวนก็จะหยุดลง   กรรมกรจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน   ฯลฯ   นั่นหมายความว่ากรรมกรถูกบีบให้ทำการผลิตผลิตเพื่อตัวเองน้อยลง,ผลิตให้นายจ้างมากขึ้น        ค่าจ้างที่นายจ้างจ่ายเป็นค่าพลังแรงงาน ของกรรมกรได้แก่ตัวเงิน   อาจจะคิดเป็นรายเดือน รายวัน  รายชั่วโมง แล้วแต่จะตกลงกัน  เรียกว่าค่าแรงในนาม หรือ ค่าแรงเทียม     แต่สิ่งที่กรรมกรต้องการเพื่อยังชีพจริงๆนั้นมิใช่เงิน ตรา..หากแต่เป็นปัจจัยในการดำรงชีวิตตามความเป็นจริงที่ซื้อหามาด้วยเงินค่าจ้าง   จึงเรียกว่าค่าแรงที่เป็นจริง   ซึ่งเป็นสิ่งแสดงให้เห็นถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของกรรมกร 
เงินตรา    การแลกเปลี่ยนขั้นต้นของมนุษย์ก็คือการแลกเปลี่ยนกันโดยตรงระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่นเมื่อพัฒนาการของการแบ่งงานกันทำในสังคม ..การแลกเปลี่ยนสินค้าและความหลากหลายของสินค้าที่จะนำมาแลกเปลี่ยนกันมีมากขึ้น      ทำให้การแลกเปลี่ยนสินค้ามีความยุ่งยากซับซ้อนและไม่สะดวกโดยเฉพาะในการขนย้าย   การกำหนดมูลค่า  ฯลฯ    อีกทั้งการแลกเปลี่ยนโดยตรงไม่สามารถสนองความต้องการสินค้าของทั้งสองฝ่ายได้   หากความต้องการสินค้าที่ต่างฝ่ายต้องการ   การแลกเปลี่ยนจึงจะประสบความสำเร็จได้ หากไม่..ก็จะเกิดปัญหาขึ้น   จึงมีการพัฒนามาใช้ ”สื่อกลาง ในการแลก เปลี่ยนโดยการตีราคาสินค้าเป็นตัวเงินแทน    ในที่สุด”สื่อกลาง ที่ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปได้ แก่ทองคำ   โดยคุณสมบัติของมันในฐานะที่เป็นสินค้าตัวหนึ่งและมีมูลค่าใช้สอยของมัน   นั่นหมาย ความว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าของสินค้าอื่นๆได้โดยผ่านการเปรียบเทียบ    กล่าวคือ..ไม่ว่าสินค้าชนิดใดหากต้องการจะนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นก็จะต้องเทียบมูลค่าของมันกับทองคำเสียก่อน  จากนั้นถึงจะนำไปแลกกับสินค้าชนิดอื่นที่ถูกกำหนดมูลค่าโดยทองคำเช่นกัน     สมมุตว่าข้าวเปลือกหนึ่งเกวียนเทียบมูลค่าเท่ากับทองคำหนัก 1 บาท        เมื่อนำไปแลกกับหมูที่มีมูลค่าเมื่อเทียบกับทองคำแล้ว   หมูหนึ่งตัวเทียบเท่ามูลค่าทองคำ  1 สลึง      ดังนั้นข้าว 1 เกวียนจะแลกหมูได้ 4 ตัว อย่างนี้เป็นต้น    
ทองคำซึ่งมีบทบาทเป็นสื่อกลางในการเปรียบเทียบมูลค่าของสินค้าเพื่อการแลกเปลี่ยนนั้นเรียกกันว่าเงินตรา  นอกจากจะมีบทบาทดังที่กล่าวมาแล้ว   ทองคำยังถือว่าเป็นมาตรการของการเดินสะพัดของสินค้าด้วย     ที่เรียกว่าการเดินสะพัดของสินค้า    ก็คือการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ใช้เงินตราเป็นสื่อกลางนั่นเอง     ราคาก็คือการแสดงออกของมูลค่า   ดังนั้นทองคำจึงถูกใช้แทนมูลค่า เนื่องมาจากคุณสมบัติของมันคือ หายาก   มีความทนทาน    แม้จะมีจำนวนเพียงเล็กน้อยมันก็ยังคงคุณค่าอยู่ในตัวของมัน  ทั้งยังสามารถแบ่งย่อยออกไปในรูปต่างๆอีกด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปของเหรียญกษาปณ์     แม้จะใช้โลหะอย่างอื่นมาทำเหรียญแต่ทองคำก็ยังคงเป็นตัวกำหนดมูลค่าอยู่นั่นเอง
มีคำถามหนึ่งซึ่งเราเคยได้ยินมาบ่อยๆนั่นคือ   “เงินตราเป็นทุนหรือไม่”   ตอบว่าทั้งเป็นและไม่เป็นโดยทั่วไปแล้วคนส่วนใหญ่จะคิดว่าเป็นเช่นนั้นซึ่งก็ถูกต้องแต่ไม่ทั้งหมด    สำหรับนักลัทธิมาร์กซมองว่า      ถ้าเงินตราถูกนายทุนใช้เป็นเครื่องมือในการขูดรีดจะพิจารณาว่ามันเป็น “ทุน”   แต่ถ้าใช้มันเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน   ฐานะความเป็นทุนของมันก็จะไม่เกิดขึ้น
ทุน    เราทราบกันแล้วว่าเศรษฐกิจสังคมบรรพกาลเป็นเศรษฐกิจแบบธรรมชาติ      การผลิตมีจุดมุ่ง หมายอยู่ที่การใช้สอยบริโภค ช่วงเวลาระหว่างสังคมบรรพกาลกับสังคมทุนนิยมนั้นนับเป็นช่วงที่ยาวนานมากในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ      ก่อนจะถึงสังคมทุนนิยม(ยกเว้นในสังคมบรรพกาล)ก็ได้มีการผลิตสินค้าด้วยกิจการขนาดเล็กแล้ว       นอกจากเพื่อใช้สอยแล้วยังทำการผลิตเพื่อนำไปแลกเปลี่ยน-ซื้อขายอีกด้วย    ในสังคมที่มีรากฐานการผลิตสินค้าด้วยกิจการขนาดเล็กนี้มีการดำเนิน งานทางเศรษฐกิจสองชนิดคือการ ขายเพื่อซื้อ และ ซื้อเพื่อขาย    ตัวอย่างเช่นชาวนาและช่างฝีมือได้นำผลผลิตของตนไปยังตลาดเพื่อขายสินค้า     ต้องการจะนำเอาเงินที่ได้มาไปซื้อสินค้าอื่นๆที่ต้อง การ     เช่นชาวนาขายข้าวเพื่อไปซื้อเสื้อผ้า    ช่างฝีมือนำผ้า(ทอ) ไปขายเพื่อได้เงินมาซื้อข้าว    กิจกรรมชนิดนี้เรียกว่าการ  ขายเพื่อซื้อ    ในขณะเดียวกันก็มีคนประเภทหนึ่งที่ไม่มีสินค้าอะไร  ไม่ผลิตอะไร  แต่มีเงินไปซื้อสินค้าเพื่อจะนำไปขายต่อ   กิจกรรมของเขาก็คือการ ซื้อเพื่อขาย    
ปฏิบัติการ ซื้อเพื่อขาย นี้จะมีความหมายก็ต่อเมื่อนำไปขายต่อด้วยราคาที่สูงกว่าที่ซื้อมา     นั่นหมาย ความว่าเขาได้รับมูลค่าส่วนเกินไปแล้ว     คงไม่มีใครที่จะขายสินค้าในราคาเดียวกันกับที่ซื้อมา   ดัง    นั้นจึงอาจนิยามได้ว่า..ทุนเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น จากมูลค่าส่วนเกิน     ทุนที่มาจากมูลค่าส่วนเกินนั้นได้เกิดขึ้นในสังคมที่มีรากฐานการผลิตสินค้าขนาดเล็กก่อนหน้าระบอบทุนนิยมแล้ว  ดังนั้น “ทุน” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมาก่อนวิถีการผลิตแบบทุนนิยม        การสะสมทุนชนิดนี้เรียกกันว่าการสะสมทุนแบบบรรพกาล..ซึ่งรวมไปถึงดอกเบี้ยและค่าเช่าด้วยโดยเฉพาะในยุคสังคมศักดินา     ตลอดระยะเวลาที่ผ่านจากสังคมก่อนทุนนิยมไปสู่ทุนนิยมนั้นมีลักษณะของการใช้ทุนเข้าไปมีส่วนในการผลิต     ทุนจึงไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่เป็นตัวกลางและเป็นตัวขูดรีดในรูปแบบการผลิตที่มิใช่แบบทุนนิยมเท่านั้น  สำ  หรับการผลิตแบบทุนนิยม.....ทุนจะมีบทบาทอย่างสูงในการเข้าไปควบคุมปัจจัยการผลิตและยังแทรกเข้าไปในระบบการผลิตอีกด้วย   วิถีการผลิตแบบทุนนิยมได้แยกผู้ผลิตออกจากปัจจัยการผลิต  เนื่อง จากปัจจัยการผลิตเป็นกรรมสิทธ์ของนายทุน      ในขณะเดียวกันก็มีการรวมศูนย์ปัจจัยการผลิตไปอยู่ในมือของชนชั้นเดียวคือชนชั้นนายทุน
ทุนสองชนิด
ทุนคงที่ หริอ ทุนไม่ผันแปร...ในกระบวนการผลิต   เครื่องจักร..และวัตถุดิบต่างๆได้สูญเสียมูลค่าใช้สอยของมันไปแล้ว   มูลค่าที่สูญไปนี้ได้ก่อรูปขึ้นมาใหม่ในรูปของผลิตภัณฑ์     มูลค่าของมันได้ย้ายเข้าไปอยู่ในสินค้าตัวใหม่      นี่เป็นเรื่องที่ชัดเจนว่ามูลค่าของวัตถุดิบทั้งหมดได้ถูกสลายไปในระหว่างกระบวนการผลิต     แล้วไปปรากฎขึ้นในชื่อของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมาใหม่       แต่สำหรับเครื่องจักรนั้นไม่ได้สูญหายไปจากการแปรรูป..แต่มันมีการเสื่อมค่าลงในกระบวนการผลิต  นั่นคืออายุการใช้งานจะสั้นลงในช่วงเวลาที่แน่นอนหนึ่งๆ,เครื่องจักรที่ใช้งานมานานประสิทธิภาพจะลดลง    ชนชั้นนายทุนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยการคำนวณอย่างคร่าวๆว่าเครื่องจักรจะใช้งานได้นานเท่าใด   การเสื่อมราคาของเครื่องจักรคือการสูญเสียมูลค่าใช้สอยของมันไปเป็นรายวัน      มูลค่าใช้สอยที่สูญเสียไปนั้นได้ถูกคำนวณและได้บวกรวมเข้าไปในราคาของผลิตภัณฑ์   นั่นหมายความว่าค่าเสื่อมราคาของปัจจัยการผลิตได้ถูกบวกเข้าไปในตัวสินค้าแล้วทั้งหมด      ทุนเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักร โรงงาน  วัตถุ ดิบเรียกว่า ทุนคงที่ หรือ ทุนไม่ผันแปร
ทุนผันแปร หรือ ทุนไม่คงที่  ซึ่งก็คือเงินทุนที่นายทุนซื้อพลังแรงงานจากกรรมกร   เราทราบกันแล้วว่าแรงงานกรรมกรนั้นเป็นสินค้าพิเศษ   ในขณะที่ถูกใช้ไป(ในการผลิต)   กลับไม่สูญเสียมูลค่าไปหากยังได้สร้างมูลค่าใหม่ขึ้นมามากกว่าราคาที่ถูกซื้อไปเสียอีก     ตัวอย่างเช่นนายทุนใช้เงิน 300 บาทไปซื้อพลังแรงงานกรรมกรใน 1 วัน      การใช้แรงงานของกรรมกร 1วันสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า  400 บาทขึ้นมา    นายทุนได้ขายผลิตภัณฑ์นี้ออกไปในราคา 400 บาท และครอบครองมูลค่าทั้งหมดไป     ในกระบวนการเคลื่อนไหวของทุนได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางมูลค่าขึ้น   คือมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น  ทุนส่วนที่ใช้ซื้อพลังแรงงานนี้จึงเรียกว่า ทุนผันแปร หรือ ทุนไม่คงที่       ยกตัวอย่างเช่นเรือบรรทุกน้ำมันขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นซึ่งถือได้ว่าเป็นทุนคงที่      ใช้แรงงานเพียง  20 คนควบคุมเรือ,พลังแรง งานของคนทั้ง  20 คนนี้ย่อมเป็นนายทุนซื้อหามา(จ้างมา)  ถือว่าเป็นทุนที่ผันแปร    
กำไร   บรรดานายทุนจะเรียกเงินที่พวกเขาได้เพิ่มขึ้นมาว่า “กำไร”  ดังนั้นกำไรที่แท้แล้วก็คือมูลค่าส่วนเกินหรือตัวจำแลงของมูลค่าส่วนเกินที่นายทุนขูดรีดเอาไปจากกรรมกรนั่นเอง     ไม่ใช่อย่างที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ชนชั้นนายทุนได้อธิบายไว้ว่า     กำไรคือการซื้อสินค้ามาด้วยราคาถูกแต่ขายไปในราคาแพง   ต่อเรื่องนี้มาร์กซได้อธิบายคัดค้านนิยามที่เหลวไหลในบทความเรื่อง “ค่าจ้าง แรงงาน และทุน” ของท่านว่า  เมื่อมนุษย์กลายไปเป็นผู้ขายเขาจะต้องสูญเสียความเป็นผู้ซื้อไป    เราไม่อาจกล่าวได้เลยว่ามนุษย์เป็นเพียงผู้ซื้อเพียงอย่างเดียวโดยปราศจากผู้ขายหรือผู้บริโภคโดยไม่มีผู้ผลิต     พวกเขาจะไม่ได้อะไรเลย    ถ้าในขั้นแรกมีคนเอาเงินของคุณไปและหลังจากนั้นก็นำเงินมาคืนด้วยการซื้อสินค้าของคุณ     คุณคงไม่สามารถร่ำรวยขึ้นจากการขายสินค้าที่ชายคนนั้นที่มาซื้อไปในราคาแพง     การค้าชนิดนี้มีแต่จะทำให้แย่ลง  แต่มันจะช่วยให้ตระหนักถึง”กำไร”ที่แท้จริงได้     จินตภาพของกำไรที่นักเศรษฐศาสตร์ชนชั้นนายทุนใช้อธิบายนี้    มันได้ปกปิดความจริงของการขูดรีด ในระบอบทุนนิยมไว้จนทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนไป    ประหนึ่งว่า..เงินที่งอกเงยมานั้นมิใช่เกิดจากการขูดรีดแรงงานส่วนเกินของกรรมกร     หากแต่เป็นความสามารถในการประกอบ การของนายทุนเอง
หลักการของเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ได้เรียบเรียงมานี้เป็นแค่เพียงความรู้เบื้องต้นเท่านั้น    ได้จัดทำขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่มวลชน       ส่วนที่ลึกกว่านี้จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเองเพื่อยกระดับคุณภาพความรับรู้ของเราให้สูงขึ้นไปอีก     ในหมู่คนก้าวหน้า..ความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองได้ถูกละเลยไปนาน     เลนินได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมากโดยได้กล่าวไว้ว่า  

"...ก่อนที่ชนชั้นกรรมกรจะก้าวขึ้นไปเป็นชนชั้นปกครอง (โดยการปฏิวัติ) จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจถึงระบบและวิธีการจัดการที่สลับซับซ้อนของระบอบทุนนิยมให้ดีเสียก่อน..."

  ผู้เรียบเรียงจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเอกสารชิ้นนี้คงจะมีประโยชน์อยู่บ้างสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นศึกษา

องค์ประกอบที่ 2 วัตถุนิยมประวัติศาสตร์

ก่อนจะกล่าวถึงวัตถุนิยม ปวศ.  ใคร่ขอทำความเข้าใจต่อคำบางคำที่ใช้ในเรื่องนี้ก่อนเพื่อความเข้าใจที่ตรงกันได้แก่   

1   ปัจจัยการผลิต(means of production)...หมายถึง เครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ  ที่ดิน  วัตถุดิบ  เทคโน โลยี  ความรู้ความชำนาญ  ความสามารถในการผลิต   และการกระจายผลผลิต (ซื้อขายแลกเปลี่ยนและบริการ) 

2   พลังการผลิต(force of production)...หมายถึง (ปัจจัยการผลิต + แรงงาน)

3   ความสัมพันธ์ทางการผลิต (relation of production).....หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนเช่นในระบบการผลิตในระบอบทุนนิยมคือความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้าง+กรรมกร  และการแบ่งปันผลผลิต

4   รูปแบบการผลิต(mode of production)...หมายถึงวิถีการผลิตที่เป็นลักษณะพิเศษของสังคม   อาจกล่าวได้ว่าเป็นการจัดระบบการผลิตในสังคมหนึ่งๆ,การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีชนิดใดในการผลิต   เช่นในสังคมทุนนิยมรูปแบบการผลิตจะมีลักษณะที่บุคคลเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต  โดยใช้เครื่องจักร  มีเป้าประสงค์ในการสะสมทุนโดยขูดรีดมูลค่าส่วนเกินจากค่าจ้างแรงงาน      

วัตถุนิยมประวัติศาสตร์คืออะไร?

ต่อปัญหาที่ว่า...อะไรเป็นเครื่องชี้วัดความเป็นไปของระบอบสังคม    หรือสังคมมนุษย์มีพัฒนาการมาอย่างไร?   เรื่องเช่นนี้มนุษย์มีความสนใจใคร่รู้มานานมากแล้ว     เพราะมันกระทบต่อชีวิตและผลประ โยชน์ของมนุษย์ในทุกหนทุกแห่งและเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก      สังคมมนุษย์มีความสลับซับซ้อนกว่าพัฒนาการของธรรมชาติซึ่งปรากฏการณ์ของมันมักจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก   มีความเรียบง่ายและสม่ำ เสมอจึงไม่ยากที่จะทำความเข้าใจ        สังคมมนุษย์มิได้เกิดขึ้นมาโดยความบังเอิญ   ดังนั้นวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ก็คือการศึกษาสังคม เศรษฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของมนุษย์ซึ่งก็คือการต่อสู้ทางชน ชั้น    สามารถกล่าวได้ว่ามาร์กซเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่นำเอาระบบคิดของปรัชญาวัตถุนิยมมาใช้ในการศึกษาค้นคว้า     เป็นการพัฒนาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์สังคมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น    เป็นการเน้นย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุเป็นสาเหตุเบื้องต้นที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

วัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ได้ค้นคว้าถึงสาเหตุของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของสังคมมนุษย์   ว่าด้วย การร่วมมือกันผลิตสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต,ชนชั้นในสังคมและความสัมพันธ์ของมันรวมไปถึงโครง สร้างทางการเมืองและวิธีคิด(อุดมการณ์)ของสังคมที่สะท้อนจากการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจขั้นพื้น ฐานซึ่งก็คือการผลิตนั่นเอง     สำหรับนักวัตถุนิยม...มาร์กซได้กล่าวไว้ว่า  ”กรอบความคิดของนักวัตถุ นิยมที่มีต่อประวัติศาสตร์เริ่มต้นที่เรื่องราวของมนุษย์ผู้ทำการผลิตเพื่อการดำรงชีพของตน     ถัดจากนั้นก็คือการผลิตเพื่อการแลกเปลี่ยนผลิตผลที่ผลิตขึ้นมา     ถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานของสังคมที่ได้ปรากฏในทุกๆสังคมตลอดระยะประวัติศาสตร์,    เป็นการกระจายความมั่งคั่งและเกิดการแบ่งชนชั้นขึ้นในสังคม  มีการจัดระเบียบทางสังคมอย่างเป็นเอกเทศในแต่ละสังคม ...ขึ้นอยู่กับการผลิตชนิดใด,ทำไมถึงต้องผลิต,และทำไมจึงต้องมีการแลกเปลี่ยนผลผลิตกัน   จากกระบวนการเช่นนี้จึงเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองโดยในท้ายที่สุด....   มีการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงด้วยการปฏิวัติซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการผลิต(Mode of production)...”

วัตถุนิยมปวศ.เริ่มต้นจาก เรื่องที่เป็นพื้นฐานของการดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติเพื่อความอยู่รอดและสืบสานเผ่าพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงปัจจุบันนี้   มันมีความจำเป็นที่จะต้องทำการผลิตและผลิตซ้ำเพื่อสนองต่อความต้องการพื้นฐานทางวัตถุที่มีความจำเป็นต่อชีวิต     มาร์กซยังได้ขยายความต่อไปถึงหลักฐานที่ยืนยันถึงความจริงว่า     เพื่อที่จะดำเนินการผลิตและการแลกเปลี่ยนมนุษย์จำต้องเข้าไปมีความสัมพันธ์  กันทางสังคม..โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์พื้นฐานที่สำคัญที่สุดได้แก่ "ความสัมพันธ์ทางการผลิต"

ตั้งแต่บรรพบุรุษของมนุษย์ได้แยกตัวออกจากสัตว์       กระทั่งมนุษย์สายพันธุ์หนึ่งสามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้,ใช้เวลาวิวัฒนาการมากระทั่งยืนตัวตรงด้วยขาหลัง   ส่วนขาหน้าที่เคยใช้เดิน ปีนป่าย  ก็พัฒนากลายเป็นมือ    มีการใช้ภาษาโดยเฉพาะภาษากายที่ใช้สื่อสารกันเช่น    การทำท่าทางโดยใช้อวัยวะต่างๆ    และพัฒนามาเป็นการเปล่งเสียงเพื่อสื่อสารกันส่วนใหญ่จะเป็นคำพยางค์เดียวเนื่องจากกล่องเสียงยังพัฒนาไม่สมบูรณ์(สังเกตได้จากเด็กทารก)      มีความเฉลียวฉลาดและเรียนรู้เข้าใจธรรมชาติได้บ้าง     สร้างเครื่องมือหยาบๆจากหิน ไม้  และวัสดุธรรมชาติ  รู้จักใช้ไฟในการดำเนินชีวิต  เมื่อมีมนุษย์สังคมมนุษย์ก็ถือกำเนิดขึ้น,สังคมขั้นนี้ถือว่าเป็นสังคมขั้นต่ำสุดที่มาร์กซและเองเกลส์ เรียกว่า  สังคมบรรพกาล    มีการใช้ชีวิตร่วมกันเป็นกลุ่ม ๆ..ท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆพึ่งพากัน...อาศัยแรงงานของกันและกันเพื่อหาอาหารประทังชีวิต   เช่นการล่าสัตว์   ร่วมกันปกป้องอันตรายจากสัตว์ร้าย   ต่อสู้กับศัตรูเพื่อความอยู่รอดของสมาชิกในกลุ่ม   การพึ่งพากันนี้ทำให้เกิดความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งขึ้นคือการใช้แรงงานร่วมกัน     สังคมยุคนี้มีลักษณะครอบครัว..สมาชิกจะมีสายเลือดเดียวกันตั้งแต่รุ่นปู่ย่า.บิดามารดา  หนุ่มสาวไปจนถึงเด็กทารก    สังคมนี้ไม่มีรัฐ  ไม่มีชนชั้น   ไม่มีระบบกรรมสิทธิ์   นอกจากของใช้ส่วนตัวเช่นอาวุธ,เครื่องนุ่งห่มเป็นต้น 

ปัจจัยการผลิตเป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนรวมเช่นที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย  และฝูงสัตว์เลี้ยง    ในชั้นนี้ความ สัมพันธ์ทางการผลิตยังสอดคล้องกับพลังการผลิตอยู่   เนื่องจากพลังการผลิตยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก   ผลผลิตที่ได้จากการใช้แรงงานร่วมกันนอกจากจะใช้บริโภคแล้วก็ไม่เหลืออะไร     หากมีใครสักคนได้ส่วนแบ่งมากกว่าผู้อื่นสมาชิกอื่นๆก็จะได้ส่วนแบ่งน้อยลงหรือบางคนไม่ได้เลย     เมื่อความสัมพันธ์และการใช้แรงงานขยายตัวออกไปและเข้มแข็งขึ้น     ทำให้ครอบครัว(family)พัฒนาขึ้นเป็น กลุ่มตระกูล(clan) และเผ่าพงศ์(tribes)ตามลำดับ   ถือว่าเป็นการจัดตั้งทางสังคมครั้งแรกสุดของมนุษย์     สังคมบรรพกาลนี้ดำรงอยู่หลายแสนปีจึงค่อยๆสลายตัวไป   ทางหนึ่งเนื่องมาจากมีการขยายตัวของเผ่าพันธ์มนุษย์เป็นเหตุให้ความสัมพันธ์ทางการผลิตเริ่มไม่สอดคล้องกับพลังการผลิตที่ขยายตัวเติบโตขึ้น   ประ   กอบกับมีการพัฒนาเครื่องมือการผลิตดีขึ้น    คนจำนวนน้อยก็สามารถทำการผลิตได้...การใช้แรงงานร่วมกันค่อยๆหมดความจำเป็นลงไปอีกทั้งยังเป็นสิ่งขัดขวางประสิทธิภาพในการผลิตอีกด้วย    ในชุมชนที่มีการผลิตสิ่งที่เหมือนกันก็ไม่มีความจำเป็นในการแลกเปลี่ยนผลผลิตกัน     แต่ในชุมชนที่มีการผลิตไม่เหมือนกันการแลกเปลี่ยนก็ยังมีความจำเป็นอยู่       เนื่องจากบางชุมชนถนัดในการทำเกษตรกรรม   บางชุมชนหรือบางเผ่าพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำเกษตร กรรม    ก็กลายเป็นพวกเลี้ยงปศุสัตว์เร่ร่อนไป ทำให้การเกษตรกรรมแยกออกจากการเลี้ยงสัตว์  ปรากฎการณ์เช่นนี้เป็นการแบ่งงานครั้งใหญ่ในสังคมมนุษย์

การเกิดขึ้นและล่มสลายของสังคมทาส

การแบ่งงานกันเช่นนี้จึงมีความจำเป็นในการแลกเปลี่ยนผลผลิต  โดยผ่านหัวหน้าตระกูลหรือหัวหน้าเผ่าซึ่งมีอำนาจในการควบคุมผลผลิตในชนเผ่าของตน      ครั้นนานไปก็ค่อยๆแปลงผลผลิตเหล่านี้ให้กลาย เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัว      อีกทั้งมีการแยกครอบครัวออกไปทำให้เกิดชุมชนใหม่ที่ประกอบด้วยสมาชิกที่ไม่ได้มาจากสายเลือดเดียวกัน   แต่ละครอบครัวกลายเป็นหน่วยผลิตที่ทำการผลิตอย่างอิสระบางครอบ  ครัวถนัดการทำเกษตรกรรม  บางครอบครัวถนัดการทอผ้า....ตีเหล็ก....ปั้นถ้วยชามและการทำหัตกรรม  อื่นๆ    การถือครองกรรมสิทธิ์จึงได้ถือกำเนิดขึ้น      ครอบครัวใหญ่ที่มั่งคั่งก็ใช้ความมั่งคั่งของตนรวมศูนย์ปัจจัยการผลิต   ทำการให้เช่า  ให้กู้ยืมฯลฯ  ทำให้ความแตกต่างกันทางด้านทรัพย์สินยิ่งห่างกันออกไปอีก     คนที่ยากจนไม่สามารถใช้หนี้ได้ก็ขายตัวเป็นทาสรับใช้      ตระกูลใหญ่ที่มีทั้งความมั่งคั่ง   มีอำนาจ  มีสมาชิกมากก็ได้ตั้งตัวเป็นชนชั้นปกครองในเขตครอบครองของตน     สร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาควบคุมสมาชิกจึงเป็นหน่ออ่อนของการกำเนิด “รัฐ”  และขยายเขตอิทธิพลของตนออกไปด้วยการสู้รบกับชนเผ่าอื่นๆเพื่อช่วงชิงดินแดนที่อุดมสมบูรณ์  ทรัพย์สมบัติ  สัตว์เลี้ยง  ตลอดจนเกณฑ์ผู้คนของฝ่ายศัตรูที่พ่ายแพ้มาเป็นของตน,ใช้แรงงานแทนคนของตน “รัฐทาส” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นและมีหน้าที่ปกป้อง  ทรัพย์สินของเจ้าทาส 

เงื่อนไขสำคัญสองประการที่ทำให้เกิดรัฐทาสคือ       การใช้แรงงานในการผลิตได้ยกระดับขึ้นจนถึงขั้นที่ไม่ใช่การผลิตเพื่อสนองความต้องการโดยเฉพาะตัวตนและครอบครัวแล้ว    หากยังสามารถสนองต่อความต้องการของผู้อื่นในสังคมได้อีกด้วย       และการพัฒนาของระบอบกรรมสิทธิ์ได้แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำระหว่างความ “มี”และ”ไม่มี” ที่แน่นอนระดับหนึ่ง   มันได้สร้างความแตกต่างให้แก่สังคมอย่างชัดแจ้ง      การใช้แรงงานในการผลิตเป็นหน้าที่ของทาส....ส่วนผลผลิตทั้งมวลได้กลายเป็นของครอบครัวที่มั่งคั่งของ”เจ้าทาส”     ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางการผลิตระบอบทาสขึ้นมาแทนระบอบ กรรมสิทธิ์ส่วนรวมของสังคมบรรพกาล    ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาพลังการผลิตของสังคมบรรพกาลนั่น เอง   เราจะเห็นได้ว่าระบอบกรรมสิทธิ์ทำให้เกิดการกดขี่  ซึ่งนำไปสู่การแบ่งชนชั้นในสังคมคือชนชั้นที่กดขี่และชนชั้นที่ถูกกดขี่       รากฐานของความสัมพันธ์ทางการผลิตก็คือนายทาสจะเป็นผู้ครอบครองปัจจัยการผลิตอีกทั้งยังครอบครองทาสซึ่งเป็นผู้ผลิตอีกด้วย   ภายใต้การกดขี่บีบคั้นและการใช้แรงงานที่หนักหน่วงทำให้ทาสจำนวนมากต้องล้มตายไปตั้งแต่วัยหนุ่มสาวทำให้พลังการผลิตถูกทำลายลงเป็นอันมาก       การแสวงหาทาสมาก็คือการทำสงครามเพื่อจะได้ทาสเชลยมาทดแทนจำนวนที่ต้องสูญเสียไป   เหตุการณ์ที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์คือการลุกขึ้นสู้ของบรรดาทาสผู้ถูกกดขี่ที่นำโดยสปาร์ตาคัส เมื่อราว2000 ปีมาแล้ว     ผลที่ตามมาก็คือเกิดการลุกขึ้นสู้ของทาสขึ้นในทุกหนทุกแห่งทำให้รากฐานของรัฐทาสถูกบั่นทอนลง

ในช่วงปลายของสังคมทาส ราคาทาสได้ขยับขึ้นสูงมากขึ้นทำให้ขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง   เจ้าทาสไม่สามารถหาแรงงานทาสมาใช้ในการผลิตบนที่ดินผืนมหึมาของตนได้   เพราะความสัมพันธ์ทาง การผลิตไม่สอดคล้องกับพลังการผลิตของสังคมที่ขยายตัวเติบใหญ่ขึ้น   ความต้องการที่จะปลดปล่อยพลังการผลิตจากความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบเก่า   เจ้าทาสจำต้องแบ่งที่ดินของตนออกเป็นผืนเล็กๆ เพื่อให้คนจนที่ล้มละลาย,ทาสที่ถูกปลดปล่อยเช่าทำการผลิต     คนเหล่านี้ไม่ใช่ทาสแต่ก็ยังไม่ใช่เสรีชนแต่เป็น “ชาวนามีสังกัด” เป็นผู้เช่าที่ดินและทำการผลิตแบบเอกเทศ..แต่ยังคงภาระในการใช้แรงงานกับเจ้าที่ดินซึ่งก็คือเจ้าทาสเดิมอยู่       ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบใหม่ระหว่างเจ้าที่ดินกับไพร่ได้เริ่มเกิดขึ้นแทนที่ความสัมพันธ์ในการผลิตแบบเดิม สังคมทาสที่ดำรงมานานก็ถึงคราวที่ต้องล่มสลายลง

สังคมศักดินา

ดังที่กล่าวมาแล้วว่าในยุคปลายของสังคมทาสได้เกิดความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบใหม่ขึ้น   เป็นช่วงที่ผู้นำทางการทหารของชนเผ่าต่างๆได้เข้าช่วงชิงยึดครองที่ดินไว้ในอาณัติของตนเป็นจำนวนมาก เจ้าศัก ดินาที่เข้มแข็งก็ตั้งตัวเป็นกษัตริย์และสร้างอาณาจักรของตนเองขึ้น    มีกองทหาร   เก็บภาษี   ปล้นชิง  รุกรานเขตใกล้เคียงเพื่อขยายดินแดน   กษัตริย์ได้มอบที่ดินพร้อมทั้งประชาชนที่อาศัยในที่ดินนั้นให้แก่  ทายาท   เครือญาติ   ขุนศึกผู้รับใช้ใกล้ชิดเอาไปถือครองเพื่อแลกกับความภักดีและช่วยเหลือในยามที่เกิดสงคราม    คนพวกนี้คือเจ้าศักดินา(feudal lord) ซึ่งเป็นเสมือนข้าราชบริพาร(vassel) ของกษัตริย์ เจ้าศักดินา(feudal lord) ก็จะแบ่งที่ดินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อทำการผลิตโดยใช้แรงงานของประชาชนผู้อยู่ติดที่ดิน     ส่วนที่เหลือก็จะแบ่งให้ลูกน้อบริวารงของตนอีกต่อหนึ่ง (คำว่า feudal มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคือ feudum หมายถึงที่ดิน     ซึ่งคนรับที่ดินมาจากเจ้านาย(lord)จะต้องให้ความภักดีและรับใช้เจ้านายเพื่อตอบแทนที่ได้สิทธิ์ในที่ดินนั้น     ลักษณะสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการแสวงหาความคุ้มครองจากเจ้าศักดินา)    สายสัมพันธ์ของสังคมในระดับต่างๆจะอยู่บนพื้นฐานของการคุ้มครองและแบ่งปัน ผลประโยชน์ซึ่งกันและกันโดยยึดถือเอาที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญ     แต่ในความเป็นจริงแล้วจะเอื้อประ โยชน์ให้แก่ชนชั้นเจ้าที่ดินศักดินามากกว่า     

สำหรับประชาชนซึ่งเป็นไพร่ติดที่ดิน(serf)นั้นนอกจากจะไม่ได้รับประโยชน์จากสายสัมพันธ์ดังกล่าวแล้วยังมีชีวิตอยู่อย่างยากจนข้นแค้นและถูกขูดรีดแรงงานอย่างหนักหน่วงอีกด้วย    การผลิตในที่ดินของเจ้าศักดินานั้นอาศัยเครื่องมือการผลิตของไพร่ไปทำการผลิต     การที่เจ้าศักดินาแบ่งที่ดินให้แก่ไพร่ติดที่ดินหรือให้เช่าเพื่อทำการผลิตนั้นก็เพื่อผูกมัดไพร่ที่มีปัจจัยการผลิตอยู่บ้างให้อยู่ติดที่ดินเพื่อสะดวกในการอาศัยแรงงานในการผลิตและสะดวกในการขูดรีด      ภายใต้ระบอบศักดินาเจ้าศักดินาใช้รูปแบบของค่าเช่ามาฉกฉวยผลประโยชน์จากการใช้แรงงานของไพร่ไปอย่างแยบยล     ไพร่นอกจากจะใช้แรงงานเพื่อเลี้ยงตนเองและครอบครัวแล้ว    ยังต้องใช้แรงงานส่วนเกินให้แก่เจ้าศักดินาอีกด้วย  ผลผลิตที่ได้จากแรงงานส่วนนี้คือการจ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่เจ้าศักดินานั่นเอง     นอกจากจะจ่ายค่าเช่าเป็นผลผลิตแล้วรูปแบบค่าเช่าที่ต้องจ่ายให้ให้แก่เจ้าศักดินายังมาจาก.....การเกณฑ์แรงงาน...และเก็บเป็นตัวเงิน   การปกครองแบบศักดินาจึงเป็นองค์กรปกครองที่ใช้อำนาจต่อผู้ใต้ปกครองอย่างเบ็ดเสร็จ ใช้ที่ดินเป็นเครื่องกำหนดฐานะและสิทธิ์ต่างๆของบุคคล  ครอบคลุมไปทั้งด้านการปกครอง การทหาร  และเศรษฐกิจ   เป็นระบบที่ควบคุมชีวิตของประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายในสังคมศักดินา...  

กษัตริย์คือเจ้าศักดินาสูงสุดเป็นผู้ถือครองที่ดินทั่วทั้งอาณาจักร    ชนชั้นศักดินาและชนชั้นไพร่ถือว่าเป็นชนชั้นหลักในสังคมที่มีความขัดแย้งกันในด้านผลประโยชน์    นอกจากสองชนชั้นนี้แล้วยังประกอบไปด้วยเสรีชน พ่อค้า และช่างฝีมืออีกด้วย     แต่ชนชั้นเหล่านี้ยังไม่เติบใหญ่พอจึงยอมอยู่ใต้อำนาจการปกครองและพึ่งพาการคุ้มครองของเจ้าศักดินาเพื่อความอยู่รอดของตน       ดังนั้นพื้นฐานทางเศรษฐ กิจของสังคมศักดินาจึงเป็นเศรษฐกิจแบบธรรมชาติ     ชีวิตความเป็นอยู่ของเจ้าศักดินาและสมุนบริวารล้วนอาศัยผลผลิตจากที่ดินซึ่งเกิดจากแรงงานของไพร่      การสร้างถาวรวัตถุต่างๆเช่น การสร้างถนน  ขุดคูคลอง  ก่อสร้างปราสาท  ป้อมปราการฯลฯ  ก็ล้วนแต่อาศัยแรงงานไพร่ทั้งสิ้น  เท่า นั้นยังไม่พอ  ไพร่ยังถูกเกณฑ์ไปสู้รบในการทำสงครามเพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่ของเจ้าศักดินาอีกด้วย ไพร่ติดที่ดินที่เป็นคนส่วนใหญ่จึงเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่ภายใต้การกดขี่อย่างแสนสาหัส     ด้วยเหตุนี้ความขัดแย้งระหว่างเจ้าศักดินากับไพร่จึงเป็นความขัดแย้งพื้นฐานในสังคมศักดินา

เมื่อชุมชน(commune)เติบโตขึ้นจนเป็นเมือง พวก  เสรีชน  พ่อค้า และช่างฝีมือตามแขนงอาชีพ ซึ่งเป็นหน่ออ่อนของชนชั้นนายทุนก็เติบใหญ่ขึ้น..ไปพร้อมๆกับการใช้ชีวิตอย่างฟุ่มเฟือยของเจ้าศักดินา ในระยะแรกการผลิตสินค้าก็เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของชาวเมืองเท่านั้น     และยังอยู่ใต้อำนาจของเจ้าศักดินา   ชาวชุมชนยังต้องจ่ายภาษีค่าธรรมเนียมต่างๆให้      จากการที่ถูกเอารัดเอาเปรียบผลักดันให้ชาวเมืองมีการรวมตัวกันอย่างเหนียวแน่นบางชุมชนที่มีความเข้มแข็ง  มั่งคั่ง มีความสามารถที่จะปกครองตนเอง   อีกทั้งมีอำนาจ(ทางการเงิน)ในการต่อรองกับเจ้าศักดินา  จึงรวบรวมเงินทองกันเพื่อซื้อ”อิสระ” หรือสิทธิ์ในการปกครองตนเองจากเจ้าศักดินาหรือกษัตริย์  และเพื่อยกเลิกการถูกเกณฑ์แรงงาน   บางชุมชนก็ลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธอย่างที่มาร์กซได้กล่าวไว้ใน แถลงการณ์ของพรรคคอมมิว นิสต์.........”เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของชนชั้นศักดินา   ชนชั้นนายทุนเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่ได้จัดตั้งองค์คณะที่ติดอาวุธและปกครองตนเองใน คอมมูน(ชุมชน)   บางแห่งได้จัดตั้งเป็นสาธารณรัฐนครที่เป็นอิสระและในบางแห่งได้ประกอบขึ้นเป็นฐานันดรที่ 3 ที่เสียภาษีในรัฐราชาธิปไตย”( ฐานันดร  คือการแบ่งฐานะทางชนชั้นในสังคมของระบอบศักดินายุโรป     มีจุดประสงค์เพื่อจำแนกระดับในการเก็บภาษี  การมีสิทธิต่างๆเช่นสิทธิทางการเมือง ฯลฯ ฐานันดรที่หนึ่งได้แก่พระ   สองคือพวกขุนนาง   สามได้แก่ประชาชนธรรมดาทั่วไปเช่นพ่อค้า ชาวนา ช่างฝีมือ เป็นต้น)    เมื่อได้สิทธิ์ในการปกครองตนเองก็มีการจัดกองกำลัง  ก่อสร้างกำแพง ป้อมค่าย ขึ้นเป็นที่มั่นของคนในชุมชน        จัดหาอาวุธไว้สำหรับป้องกันเมืองและชาวเมืองจากการโจมตีของเจ้าศักดินาที่เกเรบางคนและโจรผู้ร้าย      ชื่อของชุมชนเหล่านี้มักจะลงท้ายว่าบวร์ก (burg) หรือเบิร์ก(berg)  บอร์ก(bourg) เบอเรอะ(borough)    ซึ่งหมายถึงเมืองที่มีป้อมปราการ  ยังใช้เป็นชื่อของเมืองต่างๆในยุโรปมาจนปัจจุบันนี้เช่นเมือง (นูเร็มเบิร์ก  เอ๊าสบวร์ก  โวฟบวร์ก  ไฟร์บวร์ก   ฮัมบวร์ก  เฮลซิงบอร์ก  เอดินเบอเรอะ  เป็นต้น)

ระบอบทุนนิยม

หน่ออ่อนของระบอบทุนนิยมได้ถูกเพาะขึ้นแล้วในปลายยุคสังคมศักดินา  การพัฒนาการค้า หัตถกรรมทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมากขึ้นอีก    วิถีการผลิตแบบใหม่ที่เป็นแบบทุนนิยมค่อยๆก่อตัวขึ้น    การพัฒนาของมันมีต้องการที่จะขจัดวิถีการผลิตแบบเดิม(ศักดินา)      ชนชั้นนายทุนที่ปรากฏขึ้นเป็นผู้ที่สนับสนุนการผลิตระบบใหม่ย่อมต้องการแรงงาน “อิสระ” คือแรงงานที่ไม่ใช่บ่าวไพร่ที่ต้องพึ่งพิงเจ้าศักดินาเหมือนเช่นแต่ก่อน   แต่เป็นแรงงานของคนยากจนที่ปราศจากทรัพย์สิน ผู้ที่อดอยากหิวโหยในสังคมเหล่านี้จึงถูกผลักเข้าสู่ระบบการผลิตแบบใหม่       เจ้าของโรงหัตถกรรมที่ร่ำรวยได้กลายฐานะไปเป็นนายทุน     ต่างระดมเพิ่มปัจจัยในการผลิตขึ้นอย่างขนานใหญ่ได้เปลี่ยนโรงหัตถกรรมเล็กๆซึ่งผลิตได้อย่างจำกัดไปเป็นโรงงานอุตสาหกรรมโดยใช้เครื่องจักรในการผลิต     อีกทั้งได้ยืดเวลาการทำทำงานของผู้ช่วยนายช่างและเด็กฝึกงานออกไปจนกลายเป็นกรรมกรรับจ้างในที่สุด      สำหรับบรรดาพ่อค้า..เดิมทีก็เป็นแค่คนรับเอาสินค้าที่หัตถกรรมผลิตขึ้นมาเพื่อไปทำการแลกเปลี่ยนหรือขายเพื่อทำกำไร      หรือไม่ก็เป็นผู้ช่วยเหลือขายผลผลิตส่วนเกินให้แก่เจ้าศักดินา   ทำให้พ่อค้ามีเงินสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก     ประจวบกับการล่าอาณานิคมและการเดินเรือทำให้มีตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้น   ความต้องการสินค้าก็เพิ่มมากขึ้น  การผลิตสินค้าก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด   เมื่อเป็นเช่นนี้ความสัมพันธ์ทางการผลิตของระบอบศักดินาย่อมไม่สอดคล้องกับพลังการผลิตที่เติบใหญ่ขึ้นอย่างมากมายซึ่งนับวันก็ยิ่งชัดเจนขึ้น     แต่ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบศักดินาซึ่งเป็นแหล่งรายได้ของเจ้าศักดินาและสมุนบริวารยังได้รับความคุ้มครองจากรัฐศักดินาอยู่        ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีพลังทางสังคมชนิดหนึ่งที่ก้าวหน้ากว่ามาโค่นล้มระบอบศักดินาลงไป,ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบใหม่จึงจะสามารพัฒนาไปได้อย่างเต็มที่         และในปลายยุคศักดินานี้นายทุนพาณิชยกรรมได้กลายเป็นชนชั้นที่ก้าวหน้าและมีอิทธิพลในสังคม     บวกกับการลุกขึ้นสู้ของชาวนาที่ถูกกดขี่ระลอกแล้วระลอกเล่าจึงเป็นเงื่อนไขที่เอื้อต่อการโค่นล้มระบอบเก่า    เพื่อต่อต้านการกดขี่ขูดรีดของระบอบศักดินาชนชั้นนายทุนได้ระดมกำลังของชนชั้นต่างๆที่ไม่พอใจระบบศักดินาเช่น  ชาวนา กรรมกร  ชนชั้นล่างในเมืองผู้อดอยากหิวโหย ต่ำต้อย และถูกกดขี่ รวมไปถึงปัญญาชน นักเขียน เข้าร่วมในการโค่นล้มระบอบศักดินา   เป็นยุคเริ่มต้นของการปฏิวัติชนชั้นนายทุน(การปฏิวัติใหญ่ฝรั่งเศสปี 1789)     เมื่อระบอบเก่าถูกโค่นลงไปแล้วความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบใหม่ได้เข้ามาแทน

ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบใหม่ของระบอบทุนนิยมนั้นขึ้นอยู่กับการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์      ดังนั้นจึงเป็นความสัมพันธ์ที่ขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมกรซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นหลักในสังคม (แน่นอนมีชนชั้นอื่นๆเป็นองค์ประกอบด้วย)   มันเป็นความสัมพันธ์ของการต่อสู้ทางชนชั้นที่ไม่สามารถปรองดองกันได้เพราะ   “....สังคมชนชั้นนายทุนสมัยใหม่ซึ่งเกิดขึ้นจากการสูญสลายของสังคมศักดินาแต่หาได้ทำลายความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นลงไปไม่   มันเพียงแต่นำเอาชนชั้นใหม่   เงื่อนไขการกดขี่ใหม่และรูปแบบการต่อสู้ใหม่มาแทนที่อันเก่าเท่านั้น 
(มาร์กซ...แถลงการณ์...)   

ความสัมพันธ์แบบใหม่นี้ทำให้พลังการผลิตพัฒนาขยายตัวขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน   การเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตย่อมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของสังคม      แม้ชนชั้นนายทุนจะทำการโค่นล้มระ บอบศักดินาลงไปแล้วแต่ก็ไม่ได้ทำลายการขูดรีดลงไป  รูปแบบการขูดรีดก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม   จากการขู่เข็ญบังคับมาเป็นการบีบคั้นทางเศรษฐกิจแทน     นายทุนไม่ได้ใช้กำลังบังคับให้ทำงานแต่เป็นการจ้างงาน   ในขณะเดียวกันก็ใช้วิธีการที่แยบยลปล้นชิงเอาอุปกรณ์การผลิตไป     การไร้อุปกรณ์การผลิตและความอดอยากและไม่มีงานทำ  บีบบังคับให้พวกเขาต้องยอมทำงานให้นายทุนด้วยความ “สมัครใจ”     ความสัมพันธ์ทางการผลิตแบบใหม่นี้ได้ถูกซ่อนเร้นปิดบังด้วยการจ้างงานแทนการบัง คับ    เป็นรูปแบบการกดขี่ที่ปราณีตขึ้นภายใต้เปลือกของประชาธิปไตยชนชั้นนายทุน   มาร์กซได้กล่าวไว้ในแถลงการณ์ว่า  “.....กรรมกรสมัยใหม่จะดำรงชีพอยู่ได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาหางานทำได้แล้วเท่านั้น และพวกเขาจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อแรงงานของพวกเขาทำให้ทุนเพิ่มพูนขึ้น    กรรมกรที่จำเป็น ต้องเอาตัวเองไปขายทีละเล็กทีละน้อยเหล่านี้   ก็เป็นสินค้าชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับสิ่ง ของที่เป็นสินค้าอื่นๆ...”    นั่นคือในสังคมทุนนิยม  แรงงานของมนุษย์ได้กลายเป็นสินค้าที่ซิ้อขายได้เหมือนสิน ค้าอื่นๆทั่วไป      แต่แรงงานมนุษย์นั้นเป็นสินค้าพิเศษ  เมื่อถูกซื่อไปแล้วไม่ได้มีมูลค่าเพียงค่าจ้างที่ถูกกำหนดไว้เท่านั้น  ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกมากมาย  

มาร์กซและเองเกลส์ได้ใช้วัตถุนิยมวิภาษไปค้นคว้าสังคม  ประวัติศาสตร์  ได้พบว่าการเปลี่ยนผ่านจากสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่งที่มีระดับสูงขึ้นนั้นเกิดจากการสะสมปริมาณความขัดแย้งของความสัมพันธ์ทางทางการผลิตและพลังการผลิต  จนพัฒนาไปเป็นความขัดแย้งทางชนชั้น    วัตถุนิยมประวัติศาสตร์  เห็นว่า
-  สังคมพัฒนาไปตามภววิสัย ไม่ได้เปลี่ยนไปเพราะความปรารถนาของมนุษย์
-  ประวัติศาสตร์ของมนุษย์คือการต่อสู้ทางชนชั้น
-  การต่อสู้ทางชนชั้นเป็นแรงผลักดันให้สังคมพัฒนา
-  การปฏิวัติคือขั้นตอนสูงสุดของการต่อสู้ทางชนชั้น





  

วัตถุนิยมวิภาษ

ลัทธิมาร์กซคืออะไร?

ลัทธิมาร์กซ,หรือลัทธิสังคมนิยมวิทยาศาสตร์เป็นชื่อเรียกองค์ความคิดที่คิดค้นขึ้นมาเป็นครั้งแรกโดย   คาร์ล มาร์กซ (1818-1883) และฟรีดริก เองเกลส์(1820-1895)  ในส่วนทั้งหมดของมัน,ความคิดเหล่านี้ได้ตระเตรียมพื้นฐานทั้งมวลสำหรับการต่อสู้ของชนชั้นกรรมกร   เพื่อให้ได้มาซึ่งรูปแบบที่มีระดับสูงขึ้นไปอีกของสังคมมนุษย์ ...นั่นคือระบอบสังคมนิยม

แนวความคิดของลัทธิมาร์กซ์ได้รับการพัฒนาในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา   และด้วยการผสานประสบ การณ์ทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นกรรมกรเอง,   แนวคิดพื้นฐานของมันไม่เคยสั่นไหวคลอนแคลน   และยังเป็นรากฐานที่มั่นคงในการเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน    ไม่ว่าก่อนหน้านี้,หรือตั้งแต่สมัยที่มาร์กซและเองเกลส์ยังมีชีวิตอยู่    ยังไม่เคยมีทฤษฎีวิทยาศาสตร์ใดๆที่สามารถอธิบายสัจธรรมของการเคลื่อนไหวพัฒนาของสังคมและบทบาทของชนชั้นกรรมกรได้ลึกซึ้งกว่า     ดังนั้นความรู้ของลัทธิมาร์กซจึงเป็นเครื่องมือทางทฤษฎีสำหรับชนชั้นกรรมาชีพในการดำเนินภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ทางประวัติศาสตร์ในการเปลี่ยนแปลงสังคม

คำอธิบายที่เป็นสัจธรรมซึ่งเป็นทัศนะคติทั้งหมดของลัทธิมาร์กซได้ถูกให้ร้ายโจมตีมาอย่างต่อเนื่องรุนแรง    และถูกส่งต่อๆกันมาโดยพวกที่ได้ชื่อว่าเป็นนักแก้ต่างให้แก่ระบบสังคมที่ดำรงอยู่นี้.....จากนักการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมไปจนถึงพวกเสรีนิยม  จากพวกพระเยซูอิตไปจนถึงพวกศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัย        การโจมตีอย่างเกรี้ยวกราด,จริงจัง ที่พวกเขาได้กระทำกันมาอย่างต่อเนื่องโดยไม่  ยอมคำนึงถึงความถูกต้อง       ซึ่งพอจะอนุมานได้สองประการคือ   ประการแรก...บรรดาพวกที่แก้ต่างให้แก่ระบอบทุนนิยมตระหนักดีว่าลัทธิมาร์กซนั้นเป็นคู่แข่งที่อันตรายมากต่อระบบของพวกเขา   และแทนที่จะยอมรับในสัจธรรมของมัน กลับตั้งหน้าตั้งตาต่อต้านโดยไม่คำนึงถึงสิ่งใดๆ      ประการที่สอง  คือต้องการกลบฝังมันไว้ภายใต้การหลอกลวงและบิดเบือนใส่ร้ายกองมหึมา ชนิดที่ว่าอย่าให้มันได้โผล่ออกมาอีกตลอดกาล       แต่กระนั้น..ทฤษฎีของมาร์กซและเองเกลส์กลับเจริญงอกงามขึ้นอย่างมั่นคงโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนชั้นดินแห่งการเคลื่อนไหวในด้านแรงงาน      และนับวันจำนวนของกรรมกรยิ่งจะเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับภายใต้ผลกระทบจากวิกฤติการณ์ของระบอบทุนนิยม       และพวกเขาต่างมีความมุ่งมั่นที่จะเสาะแสวงหาความหมายที่แท้จริงด้วยพลังของตนเองในการกำหนดชะตาชีวิตของพวกเขาเองอย่างมีจิตสำนึก

ทฤษฎีลัทธิมาร์กซได้ตระเตรียมความคิดและความเข้าใจไว้ให้แก่กรรมกร    เป็นหัวหอกที่จะนำพาพวกเขาทะลุผ่านออกมาจากเหตุการณ์ที่วกวนของกระบวนการทางสังคม,เศรษฐกิจ,การต่อสู้ทางชนชั้น,และการเมืองที่มีความสลับซับซ้อน      ด้วยการติดอาวุธทางปัญญาที่คมกริบนี้...ชนชั้นกรรมกรจึงสามารถตัดเงื่อนปมที่ผูกมัดพวกเขาทิ้งไป       พาตัวเองและชนชั้นทั้งชนชั้นก้าวข้ามอุปสรรคที่ใหญ่หลวงไปสู่ความเจริญ ก้าวหน้า..อย่างทรนงองอาจ

แต่ยังคงมีอุปสรรคอีกหลายประการบนเส้นทางของการต่อสู้ของกรรมกรเกี่ยวกับปัญหาทางทฤษฎีและการทำความเข้าใจกับมัน        เนื่องจากเป็นเรื่องที่ชนชั้นกรรมกรไม่ค่อยจะมีความคุ้นเคยเหมือนอ่านหนังสืออ่านเล่น,    กรรมกรทั้งหญิงและชายถูกบีบคั้นให้ทำงานตลอดเวลาในโรงงานอุตสาหกรรมและส่วนมากมักจะด้อยการศึกษา     สิ่งที่ตามมาคืออุปนิสัยไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือทำให้เป็นเรื่องยากที่จะซึมซับรับเอาแนวความคิดที่มีความซับซ้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนเริ่มแรก     สำหรับมวลชนกรรมกร มาร์กซและเองเกลส์ได้เขียนไว้ว่า   ทุกสิ่งทุกอย่างจะยากเสมอเมื่อเริ่มต้น   ไม่ว่าเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่เรากำลังพูดถึง     ลัทธิมาร์กซนั้นมีความเป็นวิทยาศาสตร์...มันจึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ที่กำลังเริ่มต้นศึกษา       แต่กรรมกรทุกคนที่มีบทบาทในสหภาพแรงงานหรือพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพรู้ดีว่า   ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยปราศจากการต่อสู้และการเสียสละ     

เมื่อลงมือศึกษาแล้วจะพบว่าทฤษฎีลัทธิมาร์กซนั้นโดยพื้นฐานแล้วมีความตรงไปไปตรงมาและเรียบง่าย....ที่มากไปกว่านั้นยังเน้นถึงความสำคัญไว้ที่มวลชนกรรมกรที่จะต้องเรียนรู้ด้วยความอดทนและด้วยความมานะพยายามในการทำความเข้าใจ        เพื่อดัดแปลงตนเองให้เป็นนักทฤษฎี..มากกว่าที่จะเป็นแค่นักเรียน        เพราะพวกเขาจะสามารถเข้าใจความคิดที่ไม่เพียงแค่เป็นนามธรรมเท่านั้น   แต่ยังจะสามารถเปลี่ยนให้เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตของตนเองในการทำงานของพวกเขาได้อีกด้วย

ปรัชญาลัทธิมาร์กซอธิบายถึงแรงขับเคลื่อนทางประวัติศาสตร์ว่า    ไม่ได้มาจาก ”ผู้ยิ่งใหญ่” คนใด   หรือจากสิ่งที่อยู่ ”เหนือธรรมชาติ” แต่อย่างใด  หากแต่มาจากการพัฒนาของพลังการผลิตของพวกเขาเอง (อุตสาหกรรม,วิทยาศาสตร์,เทคโนโลยี ฯลฯ)   เมื่อวิเคราะห์ให้ถึงที่สุดแล้ว...เศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดสถานภาพของชีวิต,ความเคยชิน และจิตสำนึกของมนุษยชาติ
การศึกษาลัทธิมาร์กซ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงองค์ประกอบพื้นฐาน 3 ประการที่สำคัญของมันซึ่งมีความสอดคล้องกันอย่างกว้างขวางทั้งด้าน ปรัชญา, เศรษฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์สังคม   อันได้แก่   
1. ปรัชญา  “วัตถุนิยมวิภาษ” และ  “วัตถุนิยมประวัติศาสตร์“   
2. เศรษฐศาสตร์การเมือง
3. สังคมนิยม   และการปฏิวัติ
ก่อนที่จะพูดถึงปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษ   เราจะมาทำความเข้าใจคำว่า “ปรัชญา” เสียก่อน  โดยเฉพาะคำถามที่ว่าปรัชญาคืออะไร?     ปรัชญาคือสรรพความรู้ที่ได้มาจากการศึกษาค้นคว้าศาสตร์สาขาต่างๆในขอบเขตที่กว้างขวาง    โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะอธิบายโลกธรรมชาติและมนุษย์      เท่านั้นยังไม่พอมาร์กซยังได้กล่าวไว้ว่า “เราไม่เพียงแต่จะเรียนรู้โลกธรรมชาติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  หากเพื่อเปลี่ยน แปลงโลกด้วย”      ปัญหาพื้นฐานของปรัชญาคือ    ปัญหาที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันระหว่างสรรพสิ่ง (Things) กับจิต(Ideal) หรือความคิด…..ความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งที่ ”มี” และ ”ไม่มี”อะไรเกิดก่อนกันระหว่างจิต(ความคิด)  และสสารวัตถุ    

ต่อคำถามนี้ทำให้เกิดทัศนะขึ้นสองแนวทาง   แนวทางหนึ่งคือพวกที่เห็นว่าจิตหรือความคิดเกิดก่อนวัตถุ  จึงได้ชื่อว่าฝ่ายจิตนิยม   กับอีกแนวคิดหนึ่งที่ยืนยันว่าวัตถุมาก่อนจิตหรือความคิด     นักคิดกลุ่มหลังนี้จัดอยู่ในฝ่ายวัตถุนิยม    ทัศนะอย่างแรกคือจิตนิยมนั้นเกิดขึ้นจากความไม่รู้,และความไม่เข้าใจต่อโลกธรรมชาติ      ดังนั้นจึงไม่สามารถอธิบายโลกและสรรพสิ่งได้อย่างที่มันเป็น    พวกเขาจึงอธิบายสิ่งต่างๆบนพื้นฐานความคิดของตนเอง       กระทั่งสรุปกันเอาเองถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่สามารถอธิบายได้ว่า......สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหลายนั้นจะต้องมีอำนาจลึกลับที่ยิ่งใหญ่กำกับอยู่เบื้องหลังซึ่งเป็นเรื่องที่เกินกว่ามนุษย์จะสามารถรู้เห็นและสัมผัสได้    แต่ก็สามารถรับรู้ถึงความมีอยู่ของอำนาจลึกลับยิ่งใหญ่นี้ได้ด้วยเหตุและผล (ของพวกเขา) จากวาทะกรรมที่ผ่านตรรกะ   พลังอำนาจฝ่ายดีนั้นถูกเรียกว่าพระเจ้า..พลังที่ไม่ดีถูกเรียกว่า ปีศาจบ้าง ซาตานบ้าง    ความคิดเช่นนี้คือความคิดจิตนิยม  ถึงกระนั้นก็ดี..ความเชื่อแบบจิตนิยมยังดำรงอยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้ก็โดยอาศัยศาสนาเป็นปัจจัย     จึงมีคำกล่าวกันว่า   “ปรัชญาจิตนิยมสามารถดำรงอยู่ได้โดยศาสนาและ   ศาสนาจะอยู่ไม่ได้หากปราศจากจิตนิยม”

นักคิดผู้ยิ่งใหญ่ในอดีต ที่มีชื่อเสียงโดนเด่นเลื่องลือได้แก่ เพลโต และ  เฮเกลล้วนแล้วแต่เป็นนักจิตนิยม   สำนักคิดนี้มีความคิดว่า  ธรรมชาติและประวัติศาสตร์เป็นการสะท้อนออกทางความคิดของจิตวิญญาณ   ทฤษฎีที่ว่าทั้งหญิง ชาย และวัตถุสิ่งของทุกอย่างนั้นถูก”เนรมิต” ขึ้นโดยวิญญาณอันศักดิ์ สิทธิ์, นี่เป็นพื้นฐานความคิดของลัทธิจิตนิยม    ทัศนะเช่นนี้ได้แสดงออกหลายทาง  แต่รากฐานของมันคือความคิดที่ควบคุมการพัฒนาของโลกวัตถุ      ประวัติศาสตร์จึงถูกอธิยายให้เป็นประวัติศาสตร์ของความนึกคิด     จะเห็นได้ว่าการกระทำต่างๆของผู้คนเป็นผลมาจากความคิดที่เป็นแบบนามธรรม,ไม่ได้มาจากความจำเป็นทางวัตถุของพวกเขา    แต่เฮเกลได้ก้าวล้ำไปอีกก้าวหนึ่ง..แต่ก็ยังเห็นคล้อยตามนักจิตนิยมที่ว่า ”ความคิด” เปลี่ยนไปสู่ "ความคิดอิสระ" ที่มีอยู่ภายนอกสมองและเป็นอิสระจากโลกของวัสดุ      
หลักคิดของจิตนิยม 3 ประการ
1.    จิตเกิดก่อนวัตถุ
2.    วัตถุไม่ได้อยู่นอกเหนือไปจากความคิดของมนุษย์   
3.    ความคิด(จิต)เป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง

ปรัชญาจิตนิยมเชื่อว่าจิตเท่านั้นที่เป็นความจริงอันสูงสุด(อันติมะ)    วัตถุทั้งหลายคือสิ่งที่จิตคิดขึ้น..   (จิตนิยมอัตวิสัย)     ส่วนธรรมชาติทั้งมวลล้วนเป็นผลิตผลของจิต   และจิตนี้ไม่ใช่จิตหรือความคิดธรรมดา  หากแต่เป็นจิตที่ สัมบูรณ์(absolute)  มีความเป็นนิรันดร์  และอยู่นอกเหนือโลกธรรมชาติทั้งปวง(จิตนิยมภววิสัย)

นักจิตนิยมมักจะมองสรรพสิ่งอย่างตายตัวและใช้ความคิดความเชื่อของตนเป็นบรรทัดฐาน   ดังนั้นแนว คิดหรืออุดมคติทางการเมืองของพวกเขาจึงเป็นสิ่งที่ตายตัวเปลี่ยนแปลงไม่ได้   คนเหล่านี้จึงหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลง    พยายามสร้างประวัติศาสตร์จากแนวคิดของตนเองแล้วยัดเยียดให้ผู้อื่นเชื่อ   หรือต้องเชื่อ      เมื่อใดที่มีคนออกมาโต้แย้ง  คัดค้าน  หรือกระทำผิดแผกไปจากแนวคิดหรือความเชื่อของพวกเขา..ก็จะถูกกล่าวหาใส่ร้ายต่างๆนานา    ยิ่งมีมวลชนลุกขึ้นมาคัดค้าน..ก็จะแสดงทัศนะว่ามวลชนถูกปลุกปั่นยุยงจากศัตรูของพวกเขา        หรือไม่ก็ “ถูกจ้างมา” ซึ่งเราเคยได้ยินกันมาตลอดในการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางเศรษฐกิจหรือการเมืองตลอดระยะที่ผ่านมา

องค์ประกอบที่ 1  วัตถุนิยม และ วัตถุนิยมวิภาษ

ความคิดที่ควบคู่กันมาและเป็นด้านตรงกันข้ามกับจิตนิยมก็คือความคิดวัตถุนิยม   คำว่า “วัตถุ”นั้นในทางปรัชญาหมายถึงวัตถุสสาร(Material)   และในทางการเมืองหมายถึงการดำรงชีวิตทางวัตถุ   ได้แก่การดำรงชีวิตในวิถีการผลิตทางวัตถุซึ่งก็คือการดำรงชีวิตทางเศรษฐกิจ    เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจให้แจ่มชัดและต้องรู้เท่าทัน...เนื่องจากนักบิดเบือนทฤษฎีหรือพวกที่ชิงชังการเปลี่ยนแปลงได้พยายามบิดเบือนความหมายที่แท้จริงของวัตถุนิยมมานานแล้ว      เรามักจะได้ยินคำอ้างอยู่เสมอว่านักวัตถุนิยมเป็นพวก หัวรุนแรง   เอียงซ้าย    โดยเฉพาะพวกคอมมิวนิสต์ที่เชื่อในปรัชญาวัตถุนิยมนั้นเป็นพวกที่เห็นแก่วัตถุ   สนใจแต่บริโภคนิยม  ไม่สนใจเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมที่ดีงามตามจารีตประเพณี   มีจิตใจหยาบกระ ด้าง  นิยมความรุนแรง และกล่าวหาใส่ร้ายต่างๆนานา       

สิ่งที่พวกเขากล่าวหานั้นก็คือการใส่ร้ายบิดเบือนปรัชญาวัตถุนิยมด้วยการ เล่นลิ้นเล่นคำ  เท่านั้นเอง       ในความเป็นจริงพวกเขาต่างหากที่เป็นนัก นิยมวัตถุ    เราสามารถพิสูจน์ได้จากการสะสมวัตถุของพวกเขา  ไม่ว่าจะเป็นแก้วแหวนเงินทอง   ที่ดิน  รถยนต์   สิ่งอำนวยความสะดวกทั้งปวงซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากการคดโกง ขูดรีด เอารัดเอาเปรียบผู้อื่นทั้งสิ้น

อีกด้านหนึ่งผู้ที่มีแนวคิดแบบวัตถุนิยม  ยังคงยึดมั่นว่าโลกวัตถุนั้นเป็นของจริงและธรรมชาติหรือวัตถุนั้นมาเป็นอันดับแรก  ปัญญาและความคิดนั้นเป็นผลิตผลของสมองที่ประมวลมาจากการได้สัมผัสวัตถุของอวัยวะรับสัมผัสต่างๆ      ดังนั้นความคิดที่เกิดขึ้นในสมองก็คือขั้นตอนที่แน่นอนในพัฒนาการของสิ่งมี ชีวิต    หลักการพื้นฐานของวัตถุนิยมมีดังต่อไปนี้

1. โลกของวัตถุ     เราสามารถรับรู้ได้โดยความรู้สึกสัมผัสของเราเองและการค้นคว้าทดลองทางวิทยาศาสตร์  ซึ่งเป็นสัจธรรม     พัฒนาการของโลกขึ้นอยู่กับกฎเกณท์ทางธรรมชาติโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจที่เหนือธรรมชาติใดๆ  มาสรรสร้างปรุงแต่ง

2.  โลกนั้นเป็นโลกของวัตถุเพียงอย่างเดียว    ความคิดเป็นผลผลิตของวัตถุ(สมอง)ไม่ได้เกิดขึ้นจากมโนคติใดๆ     ดังนั้นความคิดหรือมโนคติใดๆจึงไม่สามารถดำรงอยู่ได้โดยแยกออกจากวัตถุ และ”จิต” หรือความคิดจึงไม่อาจดำรงอยู่ได้โดยปราศจากวัตถุ       โดยทั่วไปความคิดเป็นเพียงการสะท้อนโลกของวัตถุต่อตัวเรา  มาร์กซเขียนไว้ว่า “ ความคิดไม่ใช่อะไรที่มากไปกว่าโลกของวัตถุที่สะท้อนขึ้นในใจของมนุษย์,และแปลออกมาเป็นความคิด” และต่อไปว่า “ชีวิตทางวัตถุของสังคมเป็นตัวกำหนดจิตสำนึก”

พวกจิตนิยมเชื่อว่าจิตสำนึกเกิดขึ้นจากภายในไม่ใช่จากภายนอก    และไม่เห็นด้วยในเรื่องวัตถุตลอด จนถึงเรื่องธรรมชาติ     ความเห็นที่ต่างไปนี้เป็นเรื่องที่ผิดและไม่เป็นความจริง   มันมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างกฎเกณฑ์ทางความคิดและกฎเกณฑ์ทางธรรมชาติเพราะสิ่งที่มาก่อนนั้นจะสะท้อนถึงสิ่งที่มาทีหลัง(เหตุและผล)     ความคิดไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากตัวของมันเอง, หากแต่เกิดขึ้นจากโลกภายนอก    แม้ว่าความคิดที่เป็นนามธรรมส่วนมากจะเป็นความจริง,แต่ก็เกิดขึ้นหลังจากการเฝ้าสังเกตุโลกวัตถุภายนอกตัวเรา      ดังนั้น  “การคิดจึงไม่ได้หมายถึงการผลิตมโนภาพขึ้นมาจากความว่างเปล่า”   และก็เช่นเดียวกันกับที่เลนินได้กล่าวไว้ว่า “เมื่อวัตถุสัมผัสกับอวัยวะรับรู้ของเราก็จะเกิดความรู้สึกขึ้น      ความรู้สึกขึ้นอยู่กับสมอง;ระบบประสาท;เยื่อตา;ฯลฯ  วัตถุเป็นสิ่งแรก  ความรู้สึก  ความคิด  คือผลผลิตขั้นสูงสุดของวัตถุ   เหล่านี้คือลัทธิวัตถุนิยม ”

รากฐานของวัตถุนิยม
“ถิ่นกำเนิดลัทธิวัตถุนิยมสมัยใหม่”  เองเกลส์เขียนไว้ว่า “จากศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาคืออังกฤษ”  ในยุคนั้น...บรรดาพวกขุนนางศักดินาและระบบกษัตริย์แบบดั้งเดิมได้มีการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันเนื่องจากการถือกำเนิดขึ้นของชนชั้นกลาง   ปราการสำคัญของศักดินาได้แก่ศาสนจักรโรมันคาธอลิก.....ภายใต้เงื่อนไขว่าเป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์และทรงความยุติธรรมของระบอบกษัตริย์และขุนนางศักดินากำลังถูกบ่อนเซาะทำลายก่อนที่จะมีการโค่นระบอบศักดินา   ชนชั้นนายทุนที่กำลังเติบใหญ่ได้ท้าทายต่ออำนาจความศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นพื้นฐานของความคิดเก่า

ชนชั้นกลางได้ดำเนินการฟื้นฟูความรู้ทางวิทยาศาสตร์เช่น ดาราศาสตร์  กลศาสตร์ ฟิสิคส์  กายวิภาค ปรัชญา ควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตผลทางอุตสาหกรรมของชนชั้นนายทุน     ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้วิทยาศาสตร์ที่มีการตรวจสอบคุณสมบัติทางกายภาพของวัสดุและความเป็นไปในพลังของธรรมชาติ     ถึงตอนนี้วิทยาศาสตร์จึงกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจของลัทธิศาสนา,ไม่ได้รับอนุญาตให้ล้ำขอบเขตที่ถูกกำหนดโดยความศรัทธา(ในพระเจ้า)  ด้วยเหตุนี้(การศึกษา)วิทยาศาสตร์จึงถูกระงับไปโดยสิ้นเชิง(ในศตวรรษที่ 17 กาลิเลโอได้ทำการพิสูจน์ความจริงในทฤษฎีของโคเปอร์นิคุส ที่ว่าด้วยโลกและดาวเคราะห์ต่างโคจรรอบดวงอาทิตย์)       พวกศาสตราจารย์ทั้งหลายในเวลานั้นต่างหัวเราะเยาะความคิดนี้....ใช้อำนาจเข้าชื่อกันไต่สวนความผิดของกาลิเลโอและบังคับให้กลับความเห็นเสียใหม่)   “วิทยาศาสตร์กบฏต่อศาสนจักร.    แต่นายทุนไม่สามารถดำเนินงานได้โดยปราศจากวิทยาศาสตร์..ดังนั้นจึงจำเป็นเข้าร่วมการกบฎ.”.....เองเกลส์

ในช่วงเวลานี้ ฟรานซิส เบคอน(1561-1626) ได้พัฒนาแนวคิดที่ปฎิวัติของลัทธิวัตถุนิยม     ตามที่เขาเคยคิดว่าความรู้สึกเป็นแหล่งที่มาของความรู้ที่แน่นอนทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง     วิทยาศาสตร์ทั้งมวลล้วนแล้วแต่มีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ทั้งสิ้น, และมีข้อมูลภายในที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งสามารถจะสืบเสาะได้โดยการ ;อุปนัย* ; วิเคราะห์  ; เปรียบเทียบ ; เฝ้าสังเกตและทดลอง
ธมัส ฮอพส์ (1588-1679)  ได้พัฒนาวัตถุนิยมของเบคอนที่ทิ้งเอาไว้ให้เป็นระบบขึ้นในเวลาต่อมา   เขาตระหนักดีว่าความคิดและมโนคติเป็นการสะท้อนออกถึงโลกวัตถุและ   "เป็นไปไม่ได้ที่จะแยกความคิดออกจากวัตถุสสารที่เราคิด”   ต่อมา จอห์น ล๊อค (1632-1704) นักคิดชาวอังกฤษได้ยอมรับปรัชญาลัทธิวัตถุนิยม  ด้วยการพิสูจน์ให้เห็นว่าความคิดเกิดขึ้นจากประสบการณ์   โดยให้ตัวอย่างที่มนุษย์สร้างโต๊ะขึ้นก็เพราะว่ามีประสบการณ์ในการนั่งบนขอนไม้หรือแผ่นหินมาก่อน    แนวคิดนี้ภายหลังได้พัฒนาไปเป็นลัทธิ “ประสบการณ์นิยม

สำนักปรัชญาวัตถุนิยมได้ขยายผ่านจากอังกฤษไปยังฝรั่งเศส   ได้รับการยอมรับและพัฒนาให้รุดหน้าไปอีกโดย  เรเน เดคาร์ท(1596-1650) และบรรดาสานุศิษย์ของท่าน    นักวัตถุนิยมชาวฝรั่งเศสเหล่านี้ไม่เพียงแต่ไม่จำกัดตัวเองไว้แค่การวิพากษ์ศาสนาเท่านั้น,  แต่ยังขยายไปถึงสถาบันต่างๆและแนวแนวคิดอื่นๆอีกด้วย    การแข่งขันกันในเรื่องนี้ในนามของเหตุผล..  และเป็นเสมือนดินระเบิดสำหรับการพัฒนา การดิ้นรนต่อสู้ของชนชั้นนายทุนกับสถาบันกษัตริย์อีกด้วย     การถือกำเนิดของการปฏิวัติใหญ่ของชน ชั้นนายทุนในฝรั่งเศสเมื่อปี 1789-93 ก็ได้รับจากพื้นฐานความเชื่อมาจากปรัชญาวัตถุนิยม        

การปฏิวัติในฝรั่งเศสนั้นได้ดำเนินควบคู่กันไปกับการทำลายระเบียบเก่าของศักดินาลงไปอย่างสิ้นเชิง ภายหลังเองเกลส์ ได้ชี้ให้เห็นว่า   “ทุกวันนี้เราได้รู้แล้วว่า...อาณาจักรของเหตุผลนี้ก็ไม่ใช่อะไรอื่นที่นอกเหนือไปจากอาณาจักรแห่งความเพ้อฝันของพวกนายทุน ”
อย่างไรก็ตามจุดอ่อนในลัทธิวัตถุนิยมของเบคอนคือมีลักษณะที่ตายตัว   อธิบายธรรมชาติแบบกลไก   ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่สำนักปรัชญาวัตถุนิยมในอังกฤษจะมีความเจริญรุ่งเรืองสุดขีดในศตวรรษที่ 18...เมื่อไอแซค นิวตัน ได้ทำให้ “ กลศาสตร์” เป็นสิ่งที่ก้าวหน้าและมีความสำคัญทางวิทยาศาสตร์   เองเกลส์กล่าวว่า “ขอบเขตที่จำกัดของวัตถุนิยมชนิดนี้อยู่ที่ไม่มีความสามารถเข้าถึงจักรวาลและกระ บวนการของมัน,ว่าวัตถุได้ผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายมาแล้วในประวัติศาสตร์

การปฏิวัติฝรั่งเศสมีอิทธิพลต่ออารยะธรรมของโลกสมัยใหม่อย่างลึกซึ้ง  คล้ายกับการปฏิวัติรัสเซียเมื่อปี 1917   ความคิดที่ปฏิวัติได้ซึมซ่านเข้าไปในทุกๆขอบเขตม่ว่าในทางการเมือง  ปรัชญา   วิทยาศาสตร์และศิลปะ    การบ่มเพาะความคิดจากการปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนได้เปิดโอกาสให้แก่ความ ก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ  ธรณีวิทยา  พฤกษศาสตร์ เคมี เท่าๆกับเศรษฐศาสตร์การเมือง
มันเป็นช่วงเวลาของการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นแบบวัตถุนิยมกลไก     อิมมานูเอล ค้านท์ (1724-1804) นักปรัชญาชาวเยอรมันได้ประสบความสำเร็จครั้งแรกที่ต่างไปจากกลศาสตร์แบบเก่าด้วยการค้นพบว่า    โลกและระบบสุริยะไม่ได้เป็นเช่นนี้ไปชั่วนิรันดร์         หลักการนี้ได้ถูกประยุกต์ ไปใช้กับ ภูมิศาสตร์  ธรณีวิทยา  พืช และสัตว์    ความคิดที่ปฏิวัติของค้านท์นี้ได้ถูกพัฒนาให้กว้างขวางและครอบคลุมมากยิ่งขึ้นโดย เกอ๊อค เฮเกล (George Hegel--1770-1831) นักคิดชาวเยอรมัน     เฮเกลเป็นนักปรัชญาจิตนิยม,ที่เชื่อว่าโลกสามารถอธิบายได้โดยการแสดงออกหรือเป็นสิ่งสะท้อนของ”จิตสัมบูรณ์”หรือความคิดสัมบูรณ์ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของพระเจ้า

จากการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ทำให้เขาค้นพบว่า..นจักรวาลทุกสิ่งทุกอย่างมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยน แปลง  และทุกสิ่งมีความสัมพันธ์กันไม่อาจแยกออกจากกันได้   แม้แต่ความคิดซึ่งเป็นนามธรรมก็มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่ต้องผ่านไปตามขั้นตอนโดยเริ่มต้นจาก   บทตั้ง (thesis) ไปสู่บทแย้ง(anti-thesis)และนำไปสู่ บทสรุป(synthesis) เขาเรียกวิธีการนี้ว่า"วิภาษวิธี”หรือไดเล็คติค (dialectic)    เฮเกลมีทัศนะต่อสรรพสิ่งว่า  มีการพัฒนา ที่ดูเหมือนว่าจะซ้ำซากวนเวียนเป็นเกลียว ไม่ได้อยู่ในแนวราบ    มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด     การสูญสลาย     การเปลี่ยนแปลงโดยรากฐาน (ปฏิวัติ)  การแตกตัวอย่างต่อเนื่อง    การเปลี่ยนแปลงจากปริมาณไปสู่คุณภาพ   โดยแรงกระตุ้นภายในก่อให้เกิดการพัฒนาซึ่งเผยให้เห็นถึงความขัดแย้งและความแตกต่างของพลังหลายชนิด   และเป็นแนวโน้มของการเกิดรูปลักษณ์หรือทำให้เกิดปรากฏการณ์"
แต่เฮเกลไม่ได้มองว่าโลกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ,แต่เป็นเหตุการณ์ที่นักปรัชญาได้ครุ่นคิดใคร่ครวญกันมานานแล้ว   เขาใช้ตัวเองเป็นเครื่องมือวัดโลกอธิบายประวัติศาสตร์ตามความรู้สึกนึกคิดของตนว่าเป็นประวัติศาสตร์แห่งความคิด      โลกทั้งมวลคือโลกของความนึกคิด เป็นโลกของมโนคติ       

ดังนั้น..สำหรับเฮเกลแล้ว..ปัญหาและความขัดแย้งจึงไม่ใช่เงื่อนไขที่แท้จริงหากแต่มันเป็นเพียงรูปแบบของความคิด..     ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องแก้ที่ความคิดแทนการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมด้วยการต่อสู้ทางชนชั้น    แต่มาร์กซเห็นว่า “กระบวนการทางวิภาษวิธี  คือการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งที่เกิดจากความขัดแย้ง”

แม้ว่า..เฮเกลได้ค้นพบวิธีใหม่และวิเคราะห์กฎของการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง   แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังยึดแนวทางจิตนิยม        ดังนั้นวิภาษวิธีของเขาจึงไม่สามารถเปล่งประกายได้จนถึงที่สุด   และยังถูก วิพากษ์วิจารณ์จากบรรดาสานุศิษย์ของเขาที่นำโดย ลุดวิก ฟอยเออร์บัค( Ludwig Feuerbach 1804-1872) ที่พยายามแก้ไขและนำกลับไปสู่รากเดิมของระบบปรัชญาวัตถุนิยมโดยสรุปว่า  “ความคิดหรือจิตเกิดจากสิ่งที่มีตัวตน(Being)    มิใช่สิ่งที่มีตัวตนเกิดจากความคิด “      และยังวิพากษ์ ”พระเจ้า” ว่า “พระเจ้าไม่ได้สร้างมนุษย์   มนุษย์ต่างหากที่สร้างพระเจ้าขึ้นมาในจินตนาการของตน “ แต่ก็ไม่สามารถลบล้างทัศนะจิตนิยมของลัทธิเฮเกลออกไปได้       เพราะวัตถุนิยมของฟอยเออร์บัคยังมีลักษณะที่เป็นกลไก    ภาระนี้ได้ตกทอดมาถึงมาร์ซ และเองเกลส์...ที่สามารถช่วยให้ปรัชญาวัตถุนิยมหลุดพ้นจากเปลือกหุ้มอันลี้ลับนี้ได้        วิภาษวิธีของเฮเกลได้ถูกหลอมเข้ากับวัตถุนิยมสมัยใหม่ซึ่งเป็นการนำไปสู่ความเข้าใจถึงลักษณะปฏิวัติของ “ลัทธิวัตถุนิยมวิภาษ”
เราจึงพอจะสรุปสาระสำคัญของวัตถุนิยมก่อนมาร์กซได้ดังนี้

1  ที่สรรพสิ่งเคลื่อนไหวได้เป็นเพราะสาเหตุจากภายนอกโดยมีแรงจากภายนอกมากระทำ   ที่เป็นเช่นนี้เพราะได้รับอิทธิพลจากวิชากลศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นในยุโรปขณะนั้น(เครื่องจักรไอน้ำ)
2  สรรพสิ่งย่อมไม่เปลี่ยนแปลง   มีสภาพอยู่เช่นไรก็จะคงสภาพอยู่เช่นนั้น
3  สรรพสิ่งไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน   ต่างดำรงอยู่ด้วยตัวมันเอง 
ดังนั้นวัตถุนิยมก่อนมาร์กซจึงไม่สามารถใช้ทฤษฎีของตนมาตีความกระบวนการทางสังคมได้อย่างถูก ต้อง   พวกเขาเห็นว่าการที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่มีระดับสูงกว่านั้นเป็นเพราะความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์(เพราะยังไม่เข้าใจความขัดแย้งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนา)
metaphysics  (อภิปรัชญา)

คำว่า (metaphysics) มาจากคำสองคำ  คือ meta ที่แปลว่า ใหญ่ หรือ นอกเหนือ  และ physics  ที่หมายถึง  ความรู้ในธรรมชาติ   วิทยาศาสตร์   เชื่อกันว่าถือกำเนิดขึ้นในกรุงโรมเมื่อประมาณ 70 ปีก่อนคริสตกาลโดย อันโดรนิคุส แห่ง โรดส์  นักปรัชญาชาวกรีกที่จาริกไปยังโรมและได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับงานนิพนธิ์ของ อริสโตเติล       โดยคัดแยกรวบรวมบทความรุ่นแรกๆของอริสโตเติลไว้เป็นหมวดหมู่เรียกว่า “ปรัชญาชั้นหนึ่ง” (First Philosophy) ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเทววิทยา    ตามมาด้วยหมวดที่เกี่ยวกับ  ”วิทยาศาสตร์”(Physics)      ดังนั้นปรัชญาชั้นหนึ่งนี้ภายหลังเป็นที่รู้จักกันในนาม เมตาฟิสิคส์ หรือมีนัย ว่าเหนือกว่าชุดฟิสิคส์   ซึ่งกินความหมายกว้างขวางมากและมีอิทธิพลครอบงำความคิดของนักปราชญ์ในยุโรปมานับเป็นพันปี   ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้อ้างอิง อธิบาย.เรื่องราวทั้งหลายซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบทั่วในการตรวจสอบสัจธรรม         ถูกแปลเป็นภาษาไทยว่า ”อภิปรัชญา”  ดังนั้นจึงมักจะเข้าใจกันว่าเป็นปรัชญาที่ยิ่งใหญ่สุดยอดของปรัชญาที่เหนือกว่าปรัชญาใดๆตามความหมายของศัพท์       เนื่องจากการต่อสู้กันระหว่างแนวคิดจิตนิยมกับวัตถุนิยมที่ดำเนินมานาน    ทำให้นักปรัชญากลุ่มหนึ่งพยายามจะประนีประนอมโดยผสมผสานความคิดและหลักการของจิตนิยมและวัตถุนิยมกลไกเข้าด้วยกันและเรียกว่า เมตาฟิสิคส์  โดยมีหลักการดังนี้

1   สรรพสิ่งนั้นดำรงอยู่อย่างไรก็จะเป็นอยู่เช่นนั้นไม่เปลี่ยนแปลง   หากจะเปลี่ยนแปลงก็เป็นเพียงการเพิ่มขึ้นหรือลดลงทางปริมาณเท่านั้น   และการเปลี่ยนแปลงของมันเกิดจากเหตุภายนอกมากระทบเช่นแรงและปัจจัยทางธรรมชาติอื่นๆ (เนื่องจากไม่เข้าใจความขัดแย้งภายใน)

2   สรรพสิ่งไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน   ต่างแยกกันดำรงอยู่โดยสิ้นเชิง

3   สิ่งที่ขัดแย้งกันไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้    ต้องขจัดด้านใดด้านหนึ่งออกไป
จากหลักการเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า   อภิปรัชญาไม่เข้าใจถึงความขัดแย้งภายในที่เป็นสาเหตุหลักของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่ง    และแน่นอนการเปลี่ยนแปลงต้องอาศัยปัจจัยภายนอกเป็นองค์ประประกอบด้วย        อภิปรัชญาไม่เข้าใจว่าสรรพสิ่งมีความสัมพันธ์กันทั้งทางตรงและทางอ้อม   เลนิน กล่าวไว้ว่า”.....ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งหนึ่งกับสิ่งอื่นๆนั้นเป็นเงื่อนไขของการดำรงอยู่และการเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้นๆ”     อภิปรัชญายังไม่เข้าใจถึงความขัดแย้งภายในที่เป็นเอกภาพกันหรือการดำรงอยู่ร่วมกันของความขัดแย้ง  หรือ เอกภาพวิภาษ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของวิภาษวิธี

ความคิดแบบเมตาฟิสิคส์หรือแบบสามัญสำนึกนั้น   เพียงพอต่อการคาดคะเนอย่างพื้นๆสำหรับจุดมุ่ง หมายในชีวิตประจำวันแต่มันมีข้อจำกัด    และนอกเหนือจากนั้นการใช้สามัญสำนึกอาจทำให้ความเป็นจริงกลับตาลปัตรได้       พื้นฐานที่บกพร่องทางความคิดเช่นนี้ทำให้ขาดพลังในการเข้าใจการเคลื่อน ไหวและการพัฒนาของสรรพสิ่ง   เมตาฟิสิคส์ยังปฏิเสธความขัดแย้งอีกด้วย    

เองเกลส์ได้บรรยายไว้ในบทนิพนธิ์ แอนตี้ ดือห์ริ่ง ของท่านเกี่ยวกับความไม่สมบูรณ์ของแนวคิดแบบเมตาฟิสิคส์ว่า..“สำหรับนักเมตาฟิสิคส์ พวกเขาได้สะท้อนความคิดที่ว่าวัตถุและจิต(ความคิด)แยกออกจากกัน      และการพิจารณาสรรพสิ่งแบบก่อนและหลังโดยไม่มีความสัมพันธ์กัน   เป็นเพียงการตรวจสอบวัตถุแบบ ยึดติด ตายตัว   สรุปเพียงครั้งเดียวถือว่าสิ้นสุด   สำหรับพวกเขาแล้ว คิดว่ามันเป็นบทแย้งที่ไม่สามารถปรองดองกันได้ไม่ว่ามันจะดำรงอยู่หรือไม่ก็ตาม    ในเวลาเดียวกันตัวสรรพสิ่งเองไม่สามารถแปรเปลี่ยนไปสู่สิ่งอื่นได้     ส่วนที่เป็นบวกและลบนั้นแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง   เหตุและผลล้วนแต่เป็นสิ่งตรงกันข้ามกันอย่างตายตัว

สรุปทัศนะของอภิปรัชญาก็คือ  เป็นทัศนะในการมองสรรพสิ่งแบบด้านเดียว หยุดนิ่ง มองเห็นแต่ปรากฎการณ์ภายนอกไม่เห็นธาตุแท้ของสรรพสิ่ง        นี่แสดงให้เห็นถึงความเป็นกลไกของอภิปรัชญา พวกเขายังใช้ทัศนะของจิตนิยมประวัติศาสตร์มาอธิบายเรื่องชนชั้นในสังคม  การกดขี่ขูดรีด  ความยากจน ฯลฯ  โดยการยอมรับสังคมที่มีชนชั้น   มีการกดขี่ขูดรีด และจะสรุปว่าสิ่งเหล่านี้มีมาเนิ่นนานแล้วและยังคงจะมีอยู่ต่อไปตราบใดที่มนุษย์ยังเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์    นี่ก็แสดงว่าไม่ได้คำนึงถึงสาเหตุที่ทำให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นและดำรงอยู่โดยไม่คิดที่จะเปลี่ยนแปลงมัน      

วิภาษวิธี
เราเคยรู้แล้วว่าลัทธิวัตถุนิยมสมัยใหม่เป็นแนวคิดที่เห็นว่า  วัตถุเป็นสิ่งมาก่อน และจิตหรือความคิดนั้นเป็นผลผลิตของสมอง  แต่อะไรคือวิภาษวิธี? ซึ่งมาร์กซได้ให้คำจำกัดความว่า “วิภาษวิธีคือกระบวน การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง”      เองเกลส์ได้ขยายความให้กว้างขึ้นว่า  “วิภาษวิธีไม่ใช่อะไรอื่นที่นอกเหนือไปจากกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ของการเคลื่อนไหวและพัฒนาของธรรมชาติ..สังคม..และความคิด”

วิธีคิดแบบวิภาษวิธีนั้นมีมาแล้วอย่างยาวนานก่อนที่ มาร์กซและเองเกลส์จะพัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์    ในการทำความเข้าใจถึงวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ ชาวกรีกโบราณได้ให้กำเนิดนักคิดวิภาษวิธีผู้ยิ่งใหญ่ขึ้นมาอย่างมากมาย รวมถึง เพลโต  เซนอน และอริสโตเติ้ล   เมื่อ500 ปีก่อนคริสตศตวรรษ  เฮราคลิตุส มีความคิดที่ก้าวหน้าเห็นว่า “ทุกสิ่งมีและไม่มี  มันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ  ความคงที่เปลี่ยนแปลงไป  ความคงที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป” และต่อไปอีกว่า  “สรรพสิ่งทั้งหลายเคลื่อนไหว..เปลี่ยนแปลง   มันเป็นไปไม่ได้ที่กระแสน้ำเดียวกันจะไหลผ่านไปได้ถึงสองครั้ง”  ข้อความเหล่านี้บ่งแสดงถึงทัศนะคติพื้นฐานของวิภาษวิธีที่ทุกสิ่งในธรรมชาติมีสภาวะที่แน่นอนในการเปลี่ยน แปลง  การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ความขัดแย้งคลี่คลายไป   วิธีคิดแบบวิภาษวิธีเมื่อเปรียบเทียบกันทางด้านพื้นฐานกับเมตาฟิสิคส์แล้วก็เหมือนกับภาพยนตร์กับภาพนิ่ง   ไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใดในวัตถุประสงค์     แต่มีความเป็นจริงมากกว่า  ประมาณการในความเป็นจริงได้ใกล้เคียงกว่า

หลักใหญ่ 4 ข้อของวิภาษวิธีโดยสังเขป
1   สรรพสิ่งมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง   จากปริมาณไปสู่คุณภาพ    
2   สรรพสิ่งมีความสัมพันธ์กัน(ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม)    ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่อย่างโดดเดี่ยว
3   สรรพสิ่งมีความขัดแย้ง    
4   ความขัดแย้งภายในเป็นสาเหตุ    ส่วนความขัดแย้งภายนอกเป็นเงื่อนไขหรือปัจจัยของการเปลี่ยนแปลง

การเปลี่ยนแปลง: ที่เป็นแบบวิภาษวิธีนั้นได้แก่กระบวนการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ     ไม่ขึ้นต่อความต้องการหรือเป็นไปตามการกระทำของมนุษย์      ตัวอย่างเช่นการตัดไม้มาทำเฟอร์นิเจอร์ย่อมไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างวิภาษวิธี   เพราะเกิดขึ้นโดยความประสงค์ของมนุษย์  แต่การที่เมล็ดข้าวงอกนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามธรรมชาติ      ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งภายในเมล็ดข้าวเอง และปัจจัยภายนอกที่เหมาะสมเช่นดิน  น้ำ อุณหภูมิ  ความชื้น ฯลฯ  ไม่มีใครสามารถบงการมันได้  ว่าให้มันหยุดงอกหรืออื่นๆ   การงอกของเมล็ดข้าวจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ วิภาษวิธี

การสะสมปริมาณไปสู่คุณภาพ

การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากรูปแบบหนึ่งไปสู่อีกรูปแบบอื่นเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีลักษณะชี้ขาด....เองเกลส์
แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป    แต่รูปแบบของการเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นในธรรมชาติและสังคมนั้นมีแต่วิภาษวิธีของลัทธิมาร์กซเท่านั้นที่สามารถอธิบายได้     ภาพโดยทั่วไปของการวิวัฒนาการนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นไปอย่างสันติ,ราบเรียบและพัฒนาไปโดยไม่มีอุปสรรคใดๆนั่นเป็นเพียงด้านเดียวและไม่ถูกต้อง   ในทางการเมืองเรียกว่า“ทฤษฎีค่อยเป็นค่อยไป”  ซึ่งพื้นฐานทางทฤษฎีของมันก็เพื่อค้ำจุนระบอบปฏิรูป       เนื่องจากจริยธรรมของระบอบปฏิรูปเป็นการยอมรับชะตากรรม ”อย่างสันติ”  มันจึงเป็นสาเหตุของการสะสมความชั่วร้ายเลวทรามทางสังคม   เช่นการกดขี่เอารัดเอาเปรียบและความไม่เป็นธรรมในสังคมที่มีชนชั้น      จริยธรรมนี้จึงเป็นประโยชน์แก่ชนชั้นปกครองเท่านั้น      แต่วิภาษวิธีก็ไม่ได้ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงทางปริมาณอย่างค่อยเป็นค่อยไป(การปฏิรูป)  แต่ได้ตระหนักเป็นอย่างยิ่งถึงการสะสมปริมาณที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพอย่างก้าวกระโดดด้วย

อย่างไรก็ตามเฮเกลได้พัฒนาแนวคิดเรื่อง ”จุดวัดความสัมพันธ์” ที่มีขอบเขตอยู่ที่จุดๆหนึ่งของจำนวน ปริมาณที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงที่จะส่งผลให้เกิดสภาวะก้าวกระโดด    ตัวอย่างเช่นกรณีให้ความร้อนแก่น้ำและให้จุดเดือดและจุดเยือกแข็งเป็นจุดกำหนด   ภายใต้แรงดันปกติ,การก้าวกระโดดเข้าสู่สภาวะใหม่จะเกิดขึ้นเป็นกลุ่มก้อนไม่กระจัดกระจาย   และในที่สุดปริมาณก็จะเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพ

ดังนั้นจากตัวอย่างข้างบนนี้,การเปลี่ยนแปลงของน้ำจากสภาวะของเหลวไปเป็นไอ  หรือเป็นน้ำแข็งไม่ได้ขึ้นอยู่กับการค่อยเป็นค่อยไปหรือเกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจาย   แต่จะเกิดขึ้นทันทีเมื่ออุณหภูมิอยู่ที่ 0°C หรือ100°C   การสะสมทำให้เกิดการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงเป็นจำนวนมากในความเร็วระดับโมเล กุล    ในที่สุดก็ทำให้เกิดขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงจากปริมาณไปสู่คุณภาพ
ความขัดแย้ง:    คือความไม่เหมือนกันหรือความแตกต่างกันของสรรพสิ่งรอบตัวเรา มันดำรงอยู่และเกิดขึ้น ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงพัฒนาของสรรพสิ่ง    

ความขัดแย้งสองชนิด  

1) คือความขัดแย้งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงในธรรมชาติได้แก่ความขัดแย้งทางความคิด   ในทางปรัชญาถือว่าเป็นความขัดแย้งทางอัตวิสัยคือคิดต่างกัน        ความขัดแย้งชนิดนี้  ไม่ถือว่าเป็นความขัดแย้งแบบวิภาษวิธี

2) คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในสรรพสิ่ง   ความขัดแย้งชนิดนี้จะดำเนินไปตามกฎของธรรมชาติ   ไม่ขึ้นกับสิ่งใด   ไม่มีใครสามารถบงการมันได้    เช่นการงอกของเมล็ดพืชที่เกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งระหว่างตัวชีวิตที่เป็นกระบวนการทางชีวะ-เคมีกับเปลือกหุ้มเมล็ด    การเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตก็ดี   การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดจากความขัดแย้งทางชนชั้นก็ดี  ถือว่าเกิดขึ้นจากความขัดแย้งภายใน   และแน่นอนย่อมต้องอาศัยองค์ประกอบภายนอกอื่นๆอีกด้วย     ความขัดแย้งชนิดนี้แหละที่เป็นความขัดแย้งที่เป็น“วิภาษวิธี”     ความขัดแย้งภายในนั้นประกอบด้วยด้านสองด้านที่อยู่ตรงกันข้ามกันแต่ดำรงอยู่ด้วยกันภายในสิ่งหรือปรากฏการณ์เดียวกัน       เรียกว่าเอกภาพของด้านตรงกันข้าม หรือ  เอกภาพวิภาษ ซึ่งมีสองลักษณะสองด้านดังนี้

ด้านแรก:  คือด้านที่ประนีประนอมกันอาศัยซึ่งกันและกัน      แสดงถึงการที่มันอาศัยด้านตรงกันข้ามของมันเป็นเงื่อนไขในการดำรงอยู่และแปรเปลี่ยนไปสู่กันและกัน    หากขาดด้านใดด้านหนึ่งตัวมันเองก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้    เช่นความไม่รู้กับความรู้เป็นต้น   

ด้านที่สอง:    คือด้านที่ต่อสู้กัน   ทำให้กระบวนการที่พัฒนาอยู่ชะงักลงชั่วคราว( หยุดสู้กัน)  แต่เมื่อด้านใดแข็งแรงกว่า..มีอิทธิพลมากกว่ามันก็จะครอบงำด้านที่อ่อนแอกว่า   การที่มันมีอิทธิพลครอบงำเช่นนี้จะทำให้การพัฒนาเคลื่อนต่อไปสู่คุณภาพใหม่และความขัดแย้งใหม่ๆต่อไป  

ที่สำคัญคือด้านทั้งสองของความขัดแย้งที่อยู่ตรงกันข้ามกันนั้น  จะเกิดขึ้นพร้อมกันหรือเกือบจะพร้อมกัน   มีความความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก   และเกิดขึ้นใน ”สิ่ง” หรือ”ปรากฏการณ์”เดียวกันด้วย  เรียกว่าเอกภาพของด้านตรงกันข้าม  หรือเอกภาพวิภาษ   เป็นกระบวนการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงจากปริมาณไปสู่คุณภาพของสรรพสิ่ง    ซึ่งเป็นไปอย่างฉับพลันหรืออย่างที่เรียกว่า”ก้าวกระโดด”

เมื่อเราเข้าใจลักษณะของเอกภาพวิภาษแล้ว    จะทำให้เราสามารถพัฒนาความคิด,วิเคราะห์ความขัดแย้งต่างๆได้อย่างถูกต้องเป็นจริง     สามารถนำไปกำหนดเงื่อนไข  รูปแบบการเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นระบบ     เหมาเจ๋อตุงกล่าวว่า  เราจะเข้าใจสรรพสิ่งได้     ก็ต้องเข้าใจการเคลื่อนไหวพัฒนาของมัน ....เราจะเข้าใจการเคลื่อนไหวพัฒนาของมัน   ก็ต้องเข้าใจความขัดแย้งของมัน  นี่จึงเป็นบทสรุปของวิภาษวิธี     เพราะ   “วิภาษวิธีคือกระบวนการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้ง”     อย่างที่มาร์กซได้สอนไว้