Thursday, July 23, 2015

ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ตอนที่ 2

2. ท่าทีที่เป็นวิทยาศาสตร์    เมื่อได้พูดถึงความคิดที่ไม่ถูกต้องแล้ว  ก็จะต้องพูดถึงท่าทีที่ถูกต้องอันเป็นท่าทีที่จำเป็นและเป็นท่าทีของผู้ที่มีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ด้วยซึ่งมีลักษณะ 4 ประการดังต่อไปนี้

2.1 ท่าทีที่เรียบง่าย ซื่อตรง และประหยัด  ทั้งสามอย่างนี้เป็นสิ่งควบคู่กัน   ที่ว่าเรียบง่ายก็คือทำอะไรก็มีความเรียบง่าย   เช่นการใช้ชีวิตเรียบง่าย สมถะ อยู่ง่าย กินง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อไปกับสิ่งที่เย้ายวนทั้งปวง  ที่ว่าซื่อตรงนั้นก็คือ  ไม่มีเล่ห์เพทุบายต่อเพื่อนร่วมอุดมการณ์  พูดความจริง  กล้าวิจารณ์ตนเอง  ที่ว่าประหยัดก็คือไม่ทำสิ่งใดฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น

2.2 ท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตน  ตามความเป็นจริงแล้วสรรพสิ่งในโลกธรรมชาติมิได้ขึ้นอยู่กับความคิดของเราหากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ตามธรรมชาติ  การที่เราจะเรียนรู้ถึงสิ่งเหล่านี้เราจะต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนเข้าไปศึกษาจากคนอื่น    ถ้าใครก็ตามมีท่าทีที่เย่อหยิ่งทำตัวราวกับว่าเป็นเจ้าของสัจธรรมแต่ผู้เดียวรู้อะไรไปเสียหมด     การพัฒนาความรับรู้ของเขาจะถูกปิดกั้นและหยุดชะงักไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้       ดังนั้นท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตนจึงเป็นท่าทีที่ถูกต้องเป็นท่าทีของการเรียนรู้สรรพสิ่ง  การยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น   น้อมใจรับฟังคำวิจารณ์ย่อมจะสามารถแก้ไขความคิดที่ผิดๆของเราได้และเป็นการนำข้อดีของผู้อื่นมาเสริมข้อด้อยของเราได้

2.3  ท่าที สุขุมรอบคอบและยึดกุมยึดมั่น   หมายถึงท่าทีที่เยือกเย็น  ไม่ด่วนทำอะไรอย่างลวกๆ   ในการพิจารณาปัญหาต่างๆต้องสำรวจอย่างรอบด้าน  พิจารณาทั้งด้านภววิสัยและอัตวิสัยเพื่อจะประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง     โดยอาศัยการยึดกุมยึดมั่นในความคิดที่ถูกต้อง  ไม่โลเลแล้วจึงลงมือกระทำ   นี่เป็นท่าทีที่เป็นวิทยาศาสตร์   เมื่อถูกวิจารณ์ก็ต้องมีท่าทีที่ถูกต้องสุขุมรอบคอบ  ใคร่ครวญหาข้อบกพร่องของตน  ท่าที่เช่นนี้เราจะต้องรักษาไว้ตลอดชีวิตของเรา

2.4  ต้องมีท่าทีของผู้ใช้แรงงาน  ไม่ใช้ท่าทีของผู้บริหารเช่น ชอบสั่ง ชี้นิ้ว  ไม่ยอมลงมือทำ นี่เป็นสิ่งที่สำคัญมาก   เพราะความรู้ของเรานั้นเกิดขึ้นได้ก็เนื่องมาจากการปฏิบัติทั้งสิ้น  ดังนั้นท่าทีแบบลัทธิออกคำสั่งหรือบงการนั้นเป็นท่าทีที่เลวและไม่เป็นวิทยาศาสตร์    ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขจัดความรู้สึกที่เลวเช่นนี้ออกไปจากตัวเราแล้วใช้ท่าทีของผู้ใช้แรงงานแทน    แต่ท่าทีของผู้ใช้แรงงานที่ถูกต้องนั้นจะต้องไม่ใช่ท่าทีที่เหมางานหรือรับทำแทน   ไม่ว่างานอะไรก็เหมาทำเสียทั้งหมด  เพราะมีความคิดว่าผู้อื่นไม่มีความสามารถบ้าง   กลัวผู้อื่นจะทำผิดบ้าง    ท่าทีเช่นนี้ไม่ถูกต้องทั้งสิ้น   เพราะถ้าเพื่อนร่วมงานไม่ได้ลงมือทำ   แล้วพวกเขาจะมีความสามารถได้อย่างไร? จะก้าวหน้าขึ้นมาได้อย่างไร?   ในที่สุดภาระหน้าที่จะรุดหน้าไปได้อย่างไร?     เพราะการปฏิวัตินั้นเป็นหน้าที่ของประชาชนผู้ถูกกดขี่ทุกคน  มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง   อีกอย่างหนึ่งก็ต้องหลีกเลี่ยงการเป็นช้างเท้าหลัง     ไม่ค่อยยอมออกความคิดเห็นอะไรเสียเลย  ใครให้ทำอะไรก็ได้แต่ก้มหน้าก้มตาทำแต่ถ่ายเดียว   ท่าที่เช่นนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้องเช่นกัน

3..วิธีปฏิบัติที่เป็นวิทยาศาสตร์    วิธีปฏิบัติเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของวิธีคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แบ่งออกเป็นขั้นตอนดังนี้

3.1  การสำรวจปัญหา   ต้องสำรวจทั้งภววิสัยและอัตวิสัย  จะต้องเป็นการสำรวจเพื่อแก้และต้องสำรวจอย่างมีจุดมุ่งหมายเช่นจุดม่งหมายทางด้านเศรษฐกิจ  การเมือง ฯลฯ  

3.2  หลังจากสำรวจแล้วก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์ แยกแยะ  และจะต้องทำอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงห้ามแยกแยะด้วยอัตวิสัยของเราหรือคาดเดาเอาเองเป็นอันขาด

3.3  เมื่อวิเคราะห์แยกแยะแล้ว  ต้องสร้างมติ  นโยบาย  แนวทาง  เพื่อใช้ในการปฏิบัติต่อไป

ข้อผิดพลาด   ข้อแรก..ก็คือทำการสำรวจอย่างไม่รอบด้าน  ดังนั้นข้อมูลที่สำรวจมาได้จึงไม่ค่อยจะสม บูรณ์   สิ่งนี้จะส่งผลและสะท้อนไปถึงการวิเคราะห์ปัญหาด้วย      ข้อที่สอง...ก็คือ บางทีข้อมูลที่สำรวจมาค่อนข้างจะดี  แต่วิธีการวิเคราะห์ปัญหายังเป็นลักษณะที่ไม่ใช่วิภาษวิธี   บางครั้งจะแสดงออกถึงการมองปัญหาเพียงด้านเดียว หยุดนิ่ง และโดดเดี่ยว     บางครั้งแสดงออกทางด้านภววิสัยมากเกินไปจนละเลยด้านอัตวิสัย     บางครั้งก็แสดงออกแบบทางด้านลัทธิอัตวิสัย     เมื่อนำไปแก้ปัญหาก็มักจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร     ประการสุดท้ายก็คือละเลยต่อการสรุปบทเรียนหมายความว่าเมื่อแก้ปัญหาตกไปแล้วก็ปล่อยให้ผ่านพ้นไปโดยไม่มีการสรุปบทเรียนในการหาจุดอ่อนเพื่อแก้ไขปรับปรุง     เพราะการสรุปบท เรียนนั้นก็เท่ากับเป็นการเรียนรู้และยกระดับความรับรู้ให้สูงขึ้นไปอีก       เมื่อนำเอาข้อสรุปไปแก้ปัญหาชนิดเดียวกันก็จะสามารถทำได้ง่ายและดียิ่งขึ้น

4. ลักษณะความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์     เมื่อมีวิธีคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์แล้วจะต้องพิจารณาถึงความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีข้อสำคัญ 6 ข้อคือ

4.1 มีความคิดที่เป็นระบบ     คือมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและมีความสม่ำเสมอคือมีลักษณะที่เป็นนามธรรมและใช้ได้ทั่วๆไปคือให้คิดถึงเงื่อนไขทางวัตถุเป็นพื้นฐาน        ตัวอย่างเช่น..เมื่อเกิดปัญหาความสัมพันธ์ทางเพศขึ้นในกระบวนการ(แสดงออกซึ่งลัทธิเสรี) จะต้องแก้ปัญหาด้วยการไปไหนอย่าไปกันสองต่อสองควรจะไปด้วยกันหลายคน   ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการทำจิตใจให้เข้มแข็ง    เพราะสัญชาติญานทางเพศนั้นเป็นแรงกระตุ้นทางธรรมชาติอันเป็นปกติวิสัย

4.2  มีลักษณะรอบด้าน   การมองและพิจารณาสิ่งต่างๆนั้นต้องมองหลายๆด้าน  อย่างน้อยที่สุดก็ต้องมองทั้งด้านตรงและด้านกลับของปัญหา     มองทั้งด้านทั่วไปและด้านเฉพาะ อย่ามองเห็นแค่ต้นไม้หลายต้นแต่มองไม่เห็นป่า  อย่างที่เองเกลส์ ได้กล่าวไว้        ไม่ควรยืนยันหรือปฏิเสธอะไรไปเสียทั้งหมดเพราะอาจจะเกิดแนวโน้มไปสู่ลัทธิอัตวิสัยได้

4.3  ต้องมีลักษณะมองให้เห็นเนื้อแท้ของปัญหา     คืออย่ามองแค่เพียงปรากฏการณ์ของสิ่งหนึ่งสิ่งใดต้องพยายามมองให้ถึงธาตุแท้ของมันโดยใช้หลักการแบบวิภาษวิธี   ตัวอย่างเช่น  ด่าขโมยว่า สันดานไม่ดี ขี้เกียจ  นั่นเป็นแค่เพียงปรากฏการณ์   แต่เนื้อแท้ของมันก็คือการที่เขาต้องเป็นขโมยก็เป็นเพราะระบบสังคมเลวทราม  ที่กดขี่เอารัดเอาเปรียบ  ที่สนับสนุนยกย่องแต่ความฟุ้งเฟ้อฟอนเฟะของสังคม  นั่นเองที่เป็นสาเหตุ     เหมือนกับที่เหมาเจ๋อตุงได้กล่าวไว้ว่า  “สังคมเลวทำคนให้เป็นผี  สังคมดีทำผีให้เป็นคน” และสำหรับการเข้าถึงเนื้อแท้ของปัญหาท่านได้ให้ข้อสรุปว่า  “ปรากฏการณ์คือประตู ที่จะก้าวเข้าไปสู่ธาตุแท้ของสรรพสิ่ง”  และ...  ”เราจะเข้าใจสรรพสิ่งได้      เราต้องเข้าใจการเคลื่อนไหวพัฒนาของมัน(ปรากฏการณ์)     เราจะเข้าใจการเคลื่อนไหวพัฒนาของมันได้อย่างไร?    เราก็ต้องเข้าใจความขัดแย้ง(ธาตุแท้)ของมัน     

4.4  มีลักษณะจับกฎเกณฑ์    หมายถึงจะต้องยึดหลักที่ว่า  สรรพสิ่งนั้นมีความสัมพันธ์และขัดแย้งกัน  ต่อสิ่งๆหนึ่งนั้นไม่เพียงแต่ว่ามันมีความสัมพันธ์กับสิ่งอื่นๆ(ภายนอกเท่านั้น)     ต่อตัวมันเองก็ยังมีความสัมพันธ์และขัดแย้งภายในอีกด้วย

4.5  ต้องมีลักษณะที่ว่า   ความรับรู้จะต้องประสานกับการปฏิบัติอย่างแนบแน่น  ซึ่งเป็นหลักการสำคัญข้อหนึ่งของวิภาษวิธีที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง    อย่างที่เราเคยได้ได้เรียนรู้มาแล้วเหมือนดั่งเช่นคำกล่าวที่ว่า   “ความรับรู้(ทฤษฎี)ที่ปราศจากการปฏิบัติ  ก็คือความว่างเปล่า      การฏิบัติที่ขาดทฤษฎีก็คือความมือบอด”  นั่นเอง


4.6  ภววิสัยต้องสอดคล้องกับอัตวิสัย  ภววิสัย คือ สิ่งที่มีอยู่ เป็นอยู่ ปรากฏการณ์ต่างๆในโลกธรรมชาติ  หรือในสังคม  ส่วนอัตวิสัย หมายถึงตัวตนของเรา  ความรู้สึกนึกคิดของเรา   สองสิ่งนี้จะต้องสอดคล้องกัน       ตัวอย่างเช่น...เราต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม(อัตวิสัย)   แต่ใช้วิธีสาปแช่งก่นด่าผู้กดขี่   หรือคอยให้พวกเขาเสียชีวิตไปก่อน  ฯลฯ   เช่นนี้แล้วก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงสังคมได้     เพราะในสภาพที่เป็นจริง(ภววิสัย)ผู้กดขี่มีอำนาจรัฐ    มีเครื่องมือในการกดขี่มากมาย     ในขณะที่ตัวเรามีแค่ความคิดและลมปาก        ดังนั้นเราจะต้องใช้วิธีหนึ่งวิธีใดมาทำลายเครื่องมือการกดขี่ของพวกเขาเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐ    จากการปฏิบัติที่เป็นจริง(ไม่ใช่แค่คิด)เช่นนี้  จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้

Monday, July 20, 2015

ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์

ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์
ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์นั้น.....กล่าวในแง่ของการพัฒนาการมิได้เกิดจากการศึกษาเพียงอย่างเดียวแต่เกิดจากการต่อสู้คัดค้านความคิดบางอย่างที่ตกทอดมาช้านานซึ่งเป็นความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์   ความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ติดตาม   วิเคราะห์สถานการณ์และจัดการกับปัญหาได้อย่างถูกต้องเท่านั้น อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องใช้ประกอบกันคือการนำความรู้ความคิดที่ได้มานั้นไปปฏิบัติ    ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยจิตใจที่กล้าต่อสู้   ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับเรื่องต่างๆตามขั้นตอนดังต่อไปนี้คือ

1.การคัดค้านความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์
2.ท่าทีที่เป็นวิทยาศาสตร์
3.วิธีปฏิบัติที่เป็นวิทยาศาสตร์
4.ลักษณะความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์
5.หลักคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์

1.การคัดค้านความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์    ความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์มี 4 ประการคือ
1.1  ความคิดที่ยึดถือประเพณี   สังคมไทยยังเป็นสังคมที่อุดมไปด้วยประเพณีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นประเพณีที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อแสดงให้เห็นถึงความชอบธรรมของวัฒนธรรมศักดินา แม้ว่าสังคมเช่นเช่นนั้นจะเสื่อมสลายไปแล้วแต่ความคิดและวัฒนธรรมในการกดขี่ของมันยังถูกสืบทอดและครอบงำสังคมมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ มันเป็นสังคมที่ยึดถือประเพณีเป็นหลัก..อ้างประเพณีในการให้เหตุผลมากเสียยิ่งกว่าเหตุผลที่แท้จริงเสียอีก   ดังนั้นเราจะต้องคัดค้านความคิดที่ไร้เหตุผลเช่นนี้และมันแสดงออกมาในลักษณะต่างๆดังนี้

ก) ความคิดที่ยึดถือเอาเทศกาลหรือวันสำคัญต่างๆ(ที่ชนชั้นปกครองกำหนด)เป็นสำคัญ    คนที่ยึดถือประเพณีนี้จะผูกมัดชีวิตของตนอยู่กับวัน(ที่คิด)ว่าสำคัญอยู่เพียงไม่กี่วันโดยละเลยต่อชีวิตประจำ วันซึ่งเป็นเครื่องกำหนดความเป็นอยู่ที่แท้จริงของเขา   ที่แล้วๆมา..บางคนยอมทนกับความยากลำบากเป็นเวลาหลายๆวันเพียงเพื่อจะสนองต่อความต้องการของตนเองว่าเป็นความสุขเพียงวันเดียวอย่างที่อ้างกันว่าปีหนึ่งมีหนเดียวเท่านั้น  โดยไม่ได้ฉุกคิดเลยว่ากว่าจะถึงวันนั้นต้องยุ่งยากเตรียม  การอยู่หลายวัน  นี่คือลักษณะการดำเนินชีวิตประจำวันที่ขึ้นอยู่กับวันเทศกาล

ข) ความคิดที่เน้นการทำซ้ำซาก จำเจ อันเป็นบ่อเกิดของลัทธิขุนนาง  ลัทธิธุรการ  เช่นทำอะไรก็จะทำเรื่อยๆไปจนเป็นกิจวัตรประจำวัน  ทำให้เกิดความกลัวต่อความคิดใหม่ๆที่สร้างสรรค์  กลัวการเปลี่ยนแปลงแม้จะเป็นประโยชน์ก็ตาม    แต่ในขณะที่เราคัดค้านความคิดประเพณีนี้ก็มีข้อควรระวังอยู่ 4 ข้อคือ

(1) ในการคัดค้านเรื่องเหล่านี้  เราต้องสำรวจประเพณีเก่าและสิ่งที่เราเคยปฏิบัติอยู่เป็นประจำว่า สิ่งไหนใช้ได้ สิ่งไหนใช้ไม่ได้  แล้วเลือกคัดค้านสิ่งที่ใช้ไม่ได้  สิ่งที่ดี มีประโยชน์ก็ยอมรับไว้ปฏิบัติ

(2) นอกจากการคัดค้านประเพณีที่ล้าหลังแล้วเราต้องระวังถึงลักษณะละทิ้งประเพณีทุกชนิดอย่างสิ้นเชิง  โดยละเลยสิ่งแวดล้อมทางภววิสัยเช่นประเพณีที่ว่า  หญิงชายไม่ควรปฏิบัติต่อกันเกินเลยความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็น  ถ้าละเลยประเพณีโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสม ความจำเป็น จะทำให้เกิดลักษณะเสรีทางเพศขึ้นได้เป็นการละเลยประเพณีโดยสิ้นเชิง   หรืออีกด้านหนึ่งก็ยึดถือประเพณีจนเคร่งครัดจนเกินไป (เช่นไม่กล้าปั๊มหัวใจให้แก่สตรี) คิดว่าทำเช่นนั้นเป็นจริยธรรม   ทั้งสองด้านก็จะกลายเป็นลักษณะที่เลยเถิดจนห่างไกลจากสภาพภววิสัย

(3) ต่อประเพณีที่ก้าวหน้าควรสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นระบบยิ่งขึ้น  เช่นการลงแรงช่วยกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์       ต้องพยายามพัฒนาให้เป็น กลุ่ม ชมรม สมาคม ฯลฯ ซึ่งจะสามารถสานต่องานของเราได้ (งาน มช ฯลฯ)   ประเพณีรักกันฉันท์พี่น้อง ไม่ใช่เป็นการรักกันอย่างคับแคบ เฉพาะหมู่เฉพาะพวก    เช่นมาจากถิ่นฐานเดียวกัน  ชนชั้นเดียวกัน ฯลฯ จะทำให้พัฒนากลายไปเป็นลัทธิพรรคพวกซึ่งจะส่งผลเสียต่อความสามัคคีในหมู่คณะได้

(4) การปฏิเสธความคิดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ปฏิบัติตามประเพณีเลย   เพราะบางอย่างเป็นประเพณีที่ก้าวหน้าเป็นประเพณีที่ฝ่ายก้าวหน้าได้คิดขึ้นเช่นการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเป็นประชาธิปไตยการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย....หรือเทศกาลบางอย่างเช่น วันกรรมกรสากล  วันสตรีสากลฯลฯ เป็นต้นเนื่องจากว่าเป็นเทศกาลที่ก้าวหน้า   กิจกรรมในงานก็ควรเป็นกิจกรรมที่ก้าวหน้าด้วย

สรุปแล้วเราต้องคัดค้านความคิดที่เป็นแบบประเพณี       เพราะมันขัดกับความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์  หากเราไม่ขจัดความเคยชินเช่นนี้  หรือไม่สามารถแก้ไขเรื่องนี้ เราก็ไม่สามารถมีความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้

1.2 ความคิดแบบไสยศาสตร์

เป็นความคิดที่มีอยู่คู่สังคมไทยเช่นกัน  ทั้งนี้เพราะสังคมของเราโดยเฉพาะสังคมชนบท  ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจความสลับซับซ้อนของธรรมชาติหรือการควบคุมธรรมชาติอันสืบเนื่องมาจากขาดการศึกษาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์  ประกอบกับความเชื่อที่สืบทอดกันมาอีกทั้งยังมีความศรัทธาในหลักศาสนาที่สัจธรรมถูกบิดเบือนโดยชนชั้นปกครองมาหลายชั่วอายุคน     แม้จะได้รับการศึกษาอยู่บ้างก็เป็นไปตามแนวทางที่ชนชั้นปกครองต้องการให้เป็น  ดังนั้นวิธีคิดจึงค่อนข้างจะเป็นแบบไสยศาสตร์อยู่มาก     ยิ่งถ้าเราไปดูตามร้านหนังสือทั่วไปจะพบว่ามีหนังสือประเภทอภินิหาร   เรื่องของผีสาง เทวดา หมอดู  นวนิยายประโลมโลกที่ไร้สาระอยู่มากมาย      สิ่งเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงวุฒิภาวะของผู้คนในสังคม    หนังสือประเภทวิชาความรู้ที่เสริมสร้างปัญญามีน้อยมากและไม่เป็นที่นิยมของนักอ่าน     เรื่องนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความคิดแบบไสยศาสตร์ที่ซึมซ่านอยู่ในสังคมไทยสังคมไทยแทบทุกชนชั้นก็ว่าได้   ความคิดแบบนี้แสดงออกมาให้เห็นอย่างน้อยก็ 3 ลักษณะคือ

ก) ได้แก่ลักษณะเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ(หมายถึงสิ่งลี้ลับ) เช่นเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชเป็นสิ่งคุ้มครองประเทศไทย   ถ้ามันจะมีจริงก็คือประชาชนนี่แหละที่จะป้องกันประเทศไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติที่ไหน

ข) ลักษณะเชื่อพรหมลิขิต  เป็นความเชื่อที่ว่าวิถีชีวิตของเรานั้นถูกกำหนดไว้ตั้งแต่แรกแล้ว  เช่นนี้ทำให้เราไม่เข้าใจสังคมและพัฒนาการของมันไม่อาจให้คำตอบที่มีเหตุผลได้ว่า  ความทุกข์ยากของประชาชนนั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุใดซึ่งในความเป็นจริงมันเกิดขึ้นจากการที่มนุษย์กดขี่เอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเองทั้งสิ้น

ค) ลักษณะเชื่อโชคชะตา  คือเชื่อในเรื่องความบังเอิญ   เอาชีวิตไปขึ้นอยู่กับความบังเอิญหรือสิ่งที่เรียกว่า”ดวง” เช่นบังเอิญถูกลอตเตอรี่  แทนที่จะคิดว่า ถ้าไม่ซื้อก็ไม่มีโอกาสถูกแต่กลับไปคิดว่านี่เป็นเพราะดวงดี     เงื่อนไขหนึ่งที่ถูกลอตเตอรี่ก็เพราะซื้อการถูกนั่นเรียกว่าเหตุบังเอิญซึ่งเป็นปรากฏ การณ์ที่เราไม่ได้คาดคิดมาก่อน     เรื่องของความรักก็มองว่าเป็นเพราะบุพเพสันนิวาสหรือเป็นดวงคู่กันจึงได้มาพบกันและอยู่ด้วยกัน      ในความเป็นจริงการได้มาพบกันคือเงื่อนไขหนึ่งเท่านั้นอาจจะเกิดจากการที่ต้องมาทำงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน      ถ้าจะว่ากันในเรื่องของโหราศาสตร์แล้วดวงก็คือวันเวลาที่มนุษย์คนหนึ่งคลอดออกมาจากครรภ์มารดาเท่านั้นเอง     ทีนี้เราลองมาคิดดูซิว่าเมื่อหญิงชายมาพบกัน   คนหนึ่งรักความเป็นธรรมมีอุดมการณ์ในการรับใช้ประชาชน  ส่วนอีกคนหนึ่งรับใช้แต่ผลประโยชน์ของตนเอง ฯลฯ เช่นนี้แล้ว ความรัก  ความสนิทสนม ความเข้าใจจะเกิดขึ้นได้อย่างไรและคงยากที่จะใช้ชีวิตร่วมกันได้

 ง)  ลักษณะที่เชื่อในเรื่องบุญกรรมและโชควาสนา   การยก ”กฎแห่งกรรม” ที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์มาใช้อ้างเช่น   คนที่คอร์รัปชั่นถูกฟ้าผ่าตายก็คิดเอาเองว่าเป็นเพราะกรรมตามสนอง  การคิดเช่นนี้ไม่มีความเป็นวิทยาศาสตร์    ไม่ได้คิดถึงเหตุและผล   สาเหตุที่เขาถูกฟ้าผ่าอาจเป็นเพราะในตัวของเขามี เช่น แหวนโลหะ สร้อยคอทองคำที่เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้าอยู่ ฯลฯ  เคยมีพระสงฆ์บางรูปกล่าวว่า”ไม่ควรหลงใหลในวิทยาศาสตร์ให้มากนัก กฎแห่งกรรมมีจริงและสำคัญกว่า” เป็นที่น่าเสียดายที่พระคุณเจ้ารูปนั้นไม่เข้าใจความหมายของคำว่า กรรม และ วิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง    ความหมายของกรรมในพุทธศาสนา     หมายถึงการกระทำที่เกิดจากเจตนา    เช่นคนๆหนึ่งมีเจตนาไปลักทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งถือได้ว่าเขาได้กระทำกรรมชั่ว        สิ่งที่เขาจะได้รับจากการกระทำของเขาก็คือถูกลงลงโทษจำคุกไม่ใช่ถูกสนองตอบการกระทำชั่วด้วยการถูกผู้อื่นมาลักทรัพย์ของเขา    

คำว่าวิทยาศาสตร์   Science  :  มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินคือ  scientia, หมายถึงความรู้  ตรงกับภาษาบาลีว่า  วิชชา    เป็นความรู้ที่ผ่านการทดลองปฏิบัติของมนุษย์มารุ่นแล้วรุ่นเล่า  กลั่นกรองมาจน เป็นความรับรู้ที่เป็นจริงในศาสตร์สาขาต่างๆ    โดยรวมแล้วก็คือสัจธรรมนั่นเอง  แต่พระคุณเจ้ารูปนั้นไม่ได้สั่งสอนให้คนเรียนรู้ ”วิชชา” ที่ถูกต้องกลับสอนให้เชื่อใน อวิชชา      หากสอนทั้งๆที่รู้ว่ามันไม่ถูกต้องถือว่าท่านผิดศีลเพราะกล่าวเท็จ         หากสอนเพราะความไม่รู้...ก็แสดงว่าท่านไม่เดียงสาในการตีความและไม่เข้าใจคำว่าวิทยาศาสตร์         การเรียนรู้ที่แท้จริงคือต้องครุ่นคิดพิจารณาไปจนถึงรากแก่นของเรื่องราว   ทดสอบปฏิบัติจนแน่ใจแล้วว่าถูกต้อง  เพราะว่าสัจธรรม..ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน   เมื่อไหร่ โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่  ก็ยังคงความเป็นสัจธรรมอยู่นั่นเอง

จ)   ลักษณะที่เชื่อเรื่องชาตินี้  ชาติหน้า    เป็นความเชื่อที่ขัดกับกฎแห่งการวิวัฒนาการของมนุษย์ที่เป็นวิทยาศาสตร์   เช่นเชื่อว่าเมื่อทำบาปแล้วชาติหน้าจะไปเกิดเป็นสัตว์ต่างๆ  ซึ่งตามข่อเท็จจริงแล้วมนุษย์ไม่มีทางที่จะไปเกิดเป็นสัตว์ได้เลย      จากกฎของการวิวัฒนาการที่ค้นพบโดย  ชาร์ลส์ ดาร์วิน นั้นมนุษย์มีวิวัฒนาการมาจากสัตว์เซลเดียวเมื่อหลายล้านปีมาแล้ว   ดังนั้นความเชื่อเช่นนี้จึงไม่ถูกต้อง    แต่ข้อเท็จจริงที่ได้มีการพิสูจน์มาแล้วว่ามนุษย์ถ่ายทอดชีวิตของตนผ่านยีนส์หรือโครโมโซมด้วยการสืบพันธุ์        ลูกที่เกิดมาจะได้รับการถ่ายทอดโครโมโซมจากพ่อและแม่คนละครึ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว  ลูกจึงมิใช่ตัวเราหรือชีวิตใหม่ของเรา      หากจะเป็นได้ก็แค่เพียงครึ่งเดียวของเราเท่านั้น      การสืบ พันธุ์ที่มีโครโมโซมเป็นตัวถ่ายทอดลักษณะของมนุษย์นั้นเป็นกฎเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์      แต่การอธิบายการถือกำเนิดและการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้วยเรื่องโชควาสนาและกรรมเก่านั้นเป็นการอธิบายด้วยเหตุผลและกฎเกณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง   ดังนั้นเราจึงต้องจำแนกเหตุผลและกฎเกณฑ์ที่เป็นไสยศาสตร์หรือเป็นวิทยาศาสตร์ให้ออก      ไม่ใช่ปฏิเสธไปเสียทุกอย่างโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงทางภววิสัย

ฉ)   ลักษณะที่เชื่อในนรก..สวรรค์   ใครทำตามสิ่งที่ชนชั้นปกครองเห็นว่าดีงามหรือกำหนดกฎเกณฑ์เอาไว้จะได้ขึ้นสวรรค์       ใครที่ไม่ทำตามความประสงค์ของชนชั้นปกครองถือว่าทำชั่วจะตกนรก  ดัง    นั้นนรกหรือสวรรค์จึงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากเป็นเรื่องของการหลอกลวงของชนชั้นปกครองที่บิดเบือนคำสอนทางศาสนามาใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่ขูดรีด     เป็นการสะท้อนถึงการกดขี่ที่ชนชั้นหนึ่งกระ ทำต่ออีกชนชั้นหนึ่งเท่านั้น          ผู้ที่ยึดมั่นในคำสอนของปรัชญาเถรวาทจะมีเข้าใจความหมายของสวรรค์ว่า   เป็นสภาวะของการกระทำความดีอย่างถึงที่สุดแล้ว         สำหรับนรกก็คือการกระทำความชั่วอย่างถึงที่สุดเช่นกัน    สวรรค์จึงไม่ใช่เป็นสถานที่ๆมีทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับเสพย์สุขแต่อย่างใดเลย        อีกทั้งยังมีการแบ่งลำดับชั้นของสวรรค์ไว้หลายชั้น     และแน่นอนสวรรค์ชั้นสูงสุดย่อมจะเป็นที่สถิตย์ของชนชั้นสูงเมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วแม้เขาจะเป็นคนที่ชั่วร้ายเพียงใดก็ตาม        เป็นการจำลองลักษณะชนชั้นในสังคมมนุษย์ที่มีความเหลื่อมล้ำเอาไว้ในนั้นด้วย    สำหรับนรกก็มีการจัดลำดับชั้นที่น่าสะพรึง กลัวกำกับไว้อีกเช่นเดียวกัน

ในขณะที่เราคัดค้านความคิดแบบไสยศาสตร์เราก็ต้องระมัดระวังด้วย     เพราะบางคนไม่เพียงแต่จะคัดค้านความคิดไสยศาสตร์เท่านั้น     แต่ยังเลยเถิดไปถึงการคัดค้านกฎเกณฑ์ทางสังคมบางอย่างที่เป็นเงื่อนไขจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์โดยสิ้นเชิง    ลักษณะเช่นนี้เป็นการคัดค้านที่เกินเลยไป   เราคัดค้านความคิดที่เป็นไสยศาสตร์อย่างถึงที่สุด      แต่ไม่ใช่เลยเถิดไปจนเป็นการดูหมิ่นกฎ เกณฑ์ทางสังคมที่ดำรงอยู่ในชุมชน        เพียงแต่ต้องค่อยๆพยายามดัดแปลงให้เป็นกฎเกณฑ์ที่มีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์

1.3 เราต้องคัดค้านความคิดแบบอัตวิสัย     ที่เราจำเป็นต้องคัดค้านก็เพราะมันเป็นความคิดที่ยึด ถือตัวเองและความรู้สึกเฉพาะหน้าของตนเป็นหลักโดยไม่คำนึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริง       จะทำให้ไม่สา  มารถมีความคิดที่รอบด้าน ลึกซึ้ง และเป็นระบบได้      ลักษณะอัตวิสัยที่แสดงออกมี 4 อย่างคือ

ก) เชื่อว่าชีวิตต้องมีความสะดวกสบาย    เหตุที่เชื่อเช่นนั้นมีสาเหตุมาจากความคิดที่ว่าความสะดวก สบายนั้นทำให้ชีวิตมีความสุข   สิ่งที่ทำให้เราไม่สะดวกสบายจึงเป็นสิ่งไม่ดี   เป็นการเอาความคิดของเราไปตัดสินผู้อื่น   ความคิดเช่นนี้จะเลยเถิดไปถึงความคิดในการเสพย์สุขต่างๆย่อมไม่ใช่ความคิดที่มีลักษณะที่เป็นวิทยาศาสตร์       ถ้าเรามีความเชื่อเช่นนี้เป็นพื้นฐานแล้วเวลาพบกับงานที่ยากลำบากก็จะคิดเอาเองว่า “ไม่มีทางสำเร็จ” จึงไม่อยากทำเพราะกลัวความยากลำบาก       ในความเป็นจริงแล้วมนุษย์ย่อมต้องเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบากเสมอไม่มากก็น้อยในการดำเนินชีวิต      ทุกวัน นี้มนุษย์สามารถมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าในอดีตก็เพราะได้ต่อสู้กับความยากลำบากมานานัปการ   ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้กับภัยธรรมชาติ  ต่อสู้ทางการผลิต  ต่อสู้กับการกดขี่ขูดรีด  ฯลฯ   จนสามารถเอาชนะและดัดแปลงธรรมชาติให้มารับใช้มนุษย์ได้    ในด้านกลับ   เมื่อตนเองต้องประสบกับความยากลำ บาก  ก็จะเกิดความท้อแท้  ไม่อยากทำอะไร    มองโลกมืดมิดไปหมด

ข)  การดำเนินชีวิตอย่างเสรีไร้กฎเกณฑ์  ไร้วินัย   การดำเนินชีวิตเช่นนี้จะไม่สามารถเข้าใจธรรมชาติได้   เพราะธรรมชาตินั้นมีกฎเกณฑ์มีระเบียบที่แน่นอน    ในเงื่อนไขหนึ่งมันจะมีกฎเกณฑ์และระเบียบที่แน่นอนอย่างหนึ่ง  เช่นฝนจะตกชุกในฤดูฝน  น้ำจะไหลจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำอย่างนี้เป็นต้น

ค)  ชีวิตที่ต้องการหลีกเลี่ยงความยากลำบาก     ก็คือต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทั้งปวง  นี่ก็เป็นความคิดอัตวิสัยอีกแบบหนึ่ง  เมื่อประสบกับความขัดแย้งก็พยายามประนีประนอมหรือหลีกเลี่ยงเพราะกลัวความขัดแย้ง   นี่เป็นความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างยิ่ง     ปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษชี้นำให้เราเข้าใจถึงความขัดแย้งว่าเป็นปัจจัยใน การพัฒนาเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งทั้งปวง      ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าในธรรมชาติหรือสังคม ทุกสิ่งทุกอย่างมีทั้งความขัดแย้งและมีความสัมพันธ์กัน  มันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ทั้งในธรรมชาติและสังคม
ง)  ชีวิตนี้เพื่อตนเอง  แล้วก็เกิดความคิดเก็งกำไร  ความคิดเห็นแก่ตัว  ความคิดอยากจะเอาดีเอาเด่นเหนือคนอื่น  ความคิดแบบลัทธิพรรคพวก  เครือญาตินิยม และความคิดที่เห็นแก่หน้า  รักษาหน้าเพื่อผลประโยชน์ของตน  เหล่านี้ก็สืบเนื่องมาจากความคิดเพื่อตนเองซึ่งขัดต่อความจริงทางวิทยาศาสตร์เพราะอย่างน้อยที่สุดถ้ากล่าวกันในแง่ชีววิทยา ชีวิตที่ดำรงอยู่ก็เพื่อขยายเผ่าพันธ์  ในแง่สังคม...ชีวิตมีเอการพัฒนาสังคมมนุษย์โดยส่วนรวมมิใช่มีชีวิตเพื่อตนเองเท่านั้น   หากเรามีความคิดอัตวิสัยแบบนี้แล้ว  เราก็จะไม่มีวันเข้าใจถึงความทุกข์ยากของสังคมได้อย่างเด็ดขาด    อาจจะคิดไปว่า  ประชาชนยังโง่เขลา  ขี้เกียจ  หรืออะไรร้อยแปดพันประการแล้วแต่จะสรรหามากล่าว    แทนที่จะเห็นความทุกข์ยากของประชาชนแล้วหาวิธีเข้าไปแก้ไข

การคัดค้านความคิดแบบอัตวิสัยนั้น  มีสิ่งที่พึงระวังดังนี้
ก)  เราต้องไม่คัดค้านความคิดอัตวิสัยจนกระทั่งเห็นว่าตัวเองไม่มีความสำคัญ   แทนที่จะมองเห็นว่าเราสามารถดัดแปลงสังคมให้พัฒนาไปได้   แน่นอนต้องมีปัจจัยอย่างอื่นประกอบอยู่ด้วย  เราต้องเข้าในในความเป็นจริงนั้นมีสองด้าน  ด้านหนึ่งสังคมสร้างเรา  อีกด้านหนึ่งเราก็มีความสามารถในการดัดแปลงสังคม     เหมือนเช่นที่ว่าธรรมชาติครอบงำดัดแปลงเรา  เราก็สามารถดัดแปลงธรรมชาติให้เป็นประโยชน์ต่อเราได้เช่นกัน

ข)  เราต้องไม่คัดค้านอัตวิสัยจนปฏิเสธิเรื่องของปัจเจกชน   การทีค่เราพูดถึงส่วนรวมมิได้หมายความว่าต้องปฏิเสธเรื่องส่วนตัว   แต่ผลประโยชน์ส่วนตัวนั้นต้องมาทีหลังและขึ้นต่อผลประโยชน์ของส่วน รวมและจะขัดต่อผลประโยชน์ของส่วนรวมมิได้

ค)  การปฏิเสธความคิดอัตวิสัย  มิได้หมายความว่าเราจะปฏิเสธความนึกคิดทั้งมวล   แต่ความนึกคิดนั้นต้องมิใช่เป็นสิ่งที่เลื่อนลอย เพ้อฝัน  หากแต่เป็นความคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของความเป็นวิทยา ศาสตร์  ที่สามารถประเมิน คาดการณ์ได้ว่า สิ่งไหนจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ง)  เราปฏิเสธความคิดเสรี  แต่ก็มิได้ปฏิเสธเสรีภาพ  พวกเสรีนิยมมักจะกล่าวหาว่าพวกเราไม่ต้องการเสรีภาพเพราะเราคัดค้านลัทธิเสรี  ความจริงแล้วเราต้องการเสรีภาพแต่มิใช่เสรีภาพในความหมายของพวกเสรีนิยมที่ชอบแต่จะทำอะไรตามใจตนเอง  สนุกสนานไปวันๆหนึ่งโดยไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม   เช่นว่าพวกเขาพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ   แต่ในขณะเดียวกันก็ทำการกดขี่ทางเพศอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน  เช่นเที่ยวเสเพล หลอกลวง  เหยียดหยามสตรีเพศ ฯลฯ    สำหรับเสรีภาพที่เราคำนึงถึงนั้นคือการปลดเปลื้องแอกและโซ่ตรวนของสังคมให้แก่เพื่อนมนุษย์  เพื่อจะให้สังคมได้ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดชะงัก

1.4 ความคิดภววิสัยโดดๆ   มีความเข้าใจผิดที่เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่เรื่องหนึ่งคือ  โดยเข้าใจว่าเรื่องของวิทยาศาสตร์นั้นเป็นเรื่องขแงวัตถุหลักฐาน  เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงโดดๆ  ความคิดเช่นนี้ถูกต้องเพียงครึ่งเดียว         เป็นเพียงด้านที่เป็นปรากฏการณ์ของวิทยาศาสตร์เท่านั้น  อีกด้านหนึ่งคือเนื้อหา หรือธาตุแท้ของมัน    บางทีก็ไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยันได้      เช่นเราพูดว่าสงครามปฏิวัติจะต้องชนะ    สังคมนิยมจะถูกสถาปนาขึ้นโดยชนชั้นกรรมาชีพ  ที่เราเชื่อเช่นนี้ก็เพราะว่าเราได้อาศัยประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางชนชั้นมาอ้างอิง  เราอาศัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติที่ว่า สิ่งใหม่ย่อมเกิดขึ้นทดแทนสิ่งเก่าที่นับวันมีแต่จะทรุดโทรมร่วงโรยไป  และแน่นอนก็ต้องอาศัยเงื่อนไขต่างๆด้วย  ความคิดภววิสัยโดๆจะมีลักษณะเด่นอยู่ 4 ประการคือ

ข้อแรก..เน้นแต่เรื่องหลักฐาน  ถ้าไม่มีหลักฐาน..ไม่เชื่อ     ในกรณีเช่นชนชั้นปกครองร่ำรวยมหาศาลทั้งๆที่เมื่อก่อนนี้ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร   เช่นนี้ก็พอจะกล่าวได้ว่าต้องมีวิธีคดโกง ปล้นชาติปล้นประชาชนแน่นอน  แต่จะใก้นำเอาหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยันคงจะยาก   เพราะคงไม่มีใครโกงแล้วยังเก็บหลักฐานไว้ให้ผู้อื่นจับผิดเป็นแน่  คำพูดที่ว่า  เอาหลักฐานมาพิสูจน์ซิ นั้น  แทนที่จะเป็นวิทยาศาสตร์  กลับไม่เป็นวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิง

ข้อสอง... เนื่องจากติดอยู่กับเรื่องหลักฐานหรือหาข้อเท็จจริงมาสนับสนุนไม่ได้    จึงทำให้แนวโน้มของการ “รู้ไม่ได้ ” ขึ้น    ซึ่งแสดงออกในหมู่ปัญญาชนที่มีจุดยืนของชนชั้นนายทุน    คือมีแต่ความสงสัยเต็มสมองไปหมด  เพราะว่าหลักฐานข้อเท็จจริงไม่พอ  ดังนั้นขอบเขตของความคิดเช่นนี้จึงติดอยู่กับอดีตและปัจจุบันแต่ไม่มีอนาคต  นี่เองที่กล่าวว่าความคิดแบบภววิสัยโดดๆ  เป็นความคิดที่ไม่สามารถเล็งการไกลได้เพราะติดอยู่กับอดีตและมองไม่เห็นอนาคต

ข้อสาม...คือมองเห็นแต่ปรากฏการณ์เท่านั้นที่เป็นจริง  เช่นที่พูดว่า  มวลชนจะต้องรวมตัวกันเป็นแสนๆเท่านั้นจึงจะสามารถขับไล่ชนชั้นปกครองออกไปได้นอกนั้นมองไม่เห็นหนทาง     หรือเช่นที่ว่าก่อนฝนจะตกอากาศจะร้อนอบอ้าว  บางทีแดดออกอยู่ดีๆฝนก็ตกลงมาได้(ลักษณะของวัตถุนิยมกลไก)

ข้อสี่... ซึ่งเป็นด้านกลับของลักษณะที่สาม  จากความคิดแบบวัตถุนิยมกลไก(ข้อสาม)ไปสู่ความคิดแบบจิตนิยม    ลักษณะความคิดแบบนี้เห็นว่า ปรากฏการณ์ เท่านั้นที่เป็นจริง   ปรากฏการณ์คือสิ่งที่พบเห็น  ดังนั้นการพบเห็นปรากฎการณ์ที่คล้ายคลึงกันแล้วไปเหมาเอาว่า      มันจะต้องปรากฏผลออกมาอย่างเดียวกัน โดยไม่เข้าใจและศึกษาค้นคว้าถึงถึงธาตุแท้ของมัน     ลักษณะอย่างนี้คือลัทธิประสบการณ์     พอนานเข้าก็จะกลายเป็นความคิดแบบจิตนิยมไป   

สิ่งที่ควรระวังในการคัดค้านความคิดแบบภววิสัยโดดๆ  คือจะต้องไม่เกินเลยไปจนกระทั่งมองไม่เห็นถึงความสำคัญของหลักฐาน   ข้อเท็จจริง  และปรากฏการณ์ด้วยเช่นกัน   นั่นคือต้องประสานภววิสัยและอัตวิสัยเข้าด้วยกัน   คือให้ความรู้สึกนึกคิดของเราสอดคล้องกับความจริงในโลกธรรมชาติ  เช่นนี้แล้วจึงจะมีลักษณะความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ได้
 (โปรดติดตามตอนต่อไปในหัวข้อที่ 2 ท่าทีที่เป็นวิทยาศาสตร์ )


Thursday, July 9, 2015

ความคิดที่ถูกต้องของคนเรามาจากไหน?

ความคิดที่ถูกต้องของคนเรามาจากไหน?  

ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา...มนุษย์โบราณได้เผชิญกับความน่าสะพรึงกลัวจากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่สร้างหายนะภัยแก่ตนไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว  พายุฝน  น้ำท่วม ฯลฯ    สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความสะเทือนใจให้แก่มนุษย์เป็นอย่างมาก     ได้พยายามที่จะหาคำตอบว่าอะไรเป็นสาเหตุของสิ่งเหล่านั้น   เนื่องจากในยุคนั้นยังไม่มีวิชาวิทยาศาสตร์     จึงอธิบายโลกธรรมชาติและปรากฏการณ์ของมันจากการคาดคะเน ของตนเองและไม่สามารถเข้าใจได้ในปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่างที่มีความซับซ้อน   จึงใช้ความ รู้สึกนึกคิดของตนเองไปอธิบายว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น    โดยคิดเอาเองว่าเกิดจากสิ่งที่มีพลังอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติ    หรือมีผู้ยิ่งใหญ่ในจินตนาการของตนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังดลบันดาลให้เป็นไปนั่นเป็นรากฐานของความคิดแบบจิตนิยม (Idealism)

ต่อมาเมื่อมนุษย์สามารถเรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติมากขึ้น      และรู้เท่าทันถึงสาเหตุที่เกิดจึงสามารถสลัดหลุดออกจากความสงสัยได้    และเริ่มคิดอย่างมีเหตุมีผลมากขึ้นสามารถได้ข้อสรุปว่าทุกๆปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินั้นที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้นย่อมมีสาเหตุที่แน่นอนของมัน      ไม่ได้เกิดจากการกระทำของอำนาจลี้ลับใดๆหรือมีผู้ยิ่งใหญ่ตนใดมาเนรมิตให้เป็นไป      และความรับรู้ของมนุษย์ย่อมเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสกับสรรพสิ่งภายนอกตัวเรา   ไม่ว่าจะเป็นตัววัตถุสสาร    การเคลื่อน ไหวหรือปรากฏการณ์ของมัน  ทั้งที่เป็นทั้งรูปและนาม     แนวคิดอย่างหลังนี้เป็นรากฐานของความคิดแบบวัตถุนิยมหรือสสารนิยม (materialism)

สำหรับเราแล้ว..เราเห็นว่าแนวคิดแบบวัตถุนิยมมีความถูกต้อง       มีเหตุมีผลมากกว่าแนวคิดจิตนิยม   สามารถพิสูจน์จับต้องได้  ทดสอบได้  และมีความเป็นวิทยาศาสตร์    เท่านั้นคงไม่เพียงพอ  เรายังต้องศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงพื้นฐานทางปรัชญาของมันอีกด้วยว่ามันมีความถูกต้องจริงหรือไม่   มันเริ่มต้นจากที่ไหน?         คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าต้นกำเนิดความรับรู้ของมนุษย์มาจากหลายแหล่งเช่นมาจากการศึกษาเล่าเรียน  มาจาก สัญชาติญาณ   เช่นสัญชาติญาณทางเพศ   ซึ่งได้พิสูจน์แล้วว่ามันเป็นแรงผลักดันทางชีวะเคมี(ฮอร์โมนเพศ)ของสิ่งมีชีวิต(มนุษย์และสัตว์)   หรือสัญชาติญาณในการป้องกันภัยของสัตว์หรือมนุษย์        จากข้อคิดทางสัญชาติญานนี้เอง นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่หลายท่านได้สรุปเอาว่ามนุษย์มีความรู้ดั้งเดิมติดตัวมาก่อนแล้ว      ซึ่งความรู้เช่นนี้ซึ่งแท้จริงแล้วมันก็มาจากความจัดเจนทางประสาทสัมผัสของสิ่งมีชีวิตนั่นเอง  

บางคนบอกว่าความรู้เกิดจาก แรงบันดาล ของสิ่งที่เหนือธรรมชาติเช่น ภูต ผี ปีศาจ เทพเจ้า  หรือสิ่งศักดิ์ สิทธิ์ทั้งหลายว่า...มันเป็นต้นกำเนิดของความรับรู้ที่แท้จริง   แต่มันไม่สามารถตอบคำถามหรืออธิบายปรากฎการณ์บางอย่างได้   มันมีความคลุมเครือและไม่แน่นอน   ดังนั้นจึงมีคำถามว่า  “แล้วอย่างนั้นความรับรู้ที่แท้จริงของเรานั้นมาจากไหน?”   

นักวัตถุนิยมเชื่อในหลักการที่ว่า...มนุษย์รับรู้ได้จากการที่อวัยวะรับสัมผัสของเรา สัมผัสกับวัตถุสสารซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่นอกกายเรา     เมื่อได้สัมผัสกับวัตถุแล้ววัตถุนั้นจะสะท้อนเข้าสู่สมอง    จากสมองผ่านการขบคิดและดัดแปลงแล้วจึงได้สะท้อนออกมาเป็นการปฏิบัติอีก      เมื่อปฏิบัติแล้วก็ได้สะท้อนกลับไปยังสมองอีก     เป็นการสะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างความรับรู้กับการปฏิบัติ      แต่มิได้สะท้อนวนเวียน อยู่ในระนาบเดิม  หากแต่พัฒนาสูงขึ้นคล้ายขดลวดสปริงอันสืบเนื่องมาจากเงื่อนไขของ “ความรับรู้” ที่สูงขึ้นและ ”เวลา” ที่ผ่านไป   เท่ากับว่ายิ่งปฏิบัติก็ยิ่งรับรู้มาก

อนึ่ง..เราสามารถยืนยันในความถูกต้องของกระบวนการรับรู้ของมนุษย์เช่นนี้ได้จากคำสั่งสอนของมหาบุรุษผู้หนึ่งที่เป็นผู้ค้นคิดและวางรากฐานเรื่องนี้ไว้อย่างละเอียดเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีมาแล้ว     เป็นบุคคลที่แทบจะไม่มีนักวัตถุนิยมคนใดกล่าวถึง     บุรุษผู้นี้คือเจ้าชายสิทธัตถะแห่งนครรัฐกบิลพัสดุไม่ใช่คนลึกลับอะไรเชื่อว่าเรารู้จักกันดี          พระองค์ได้พร่ำสอนบรรยายถึงเรื่องความรับรู้ของมนุษย์ไว้ในทำนองเดียวกันว่ามาจากอวัยวะรับสัมผัสทั้ง 6  ได้แก่ ตา ลิ้น จมูก หู กาย และมโน ของมนุษย์สัมผัสกับสิ่งนอกกาย(วัตถุ)  คือ  ตามองเห็นวัตถุจึงมีความรับรู้ทางรูป    ลิ้นสัมผัส..ทำให้รับรู้ทางรส  จมูกสัมผัส..ได้รับรู้เรื่องกลิ่น   หูสัม ผัสจึงได้ยินเสียง     และกายสัมผัส..ทำให้รับรู้แรงที่เข้ามากระทบ การรับรู้ทางสัมผัสแต่ละชนิดนั้นเป็นการรับรู้เฉพาะเรื่อง เฉพาะส่วน เป็นการรับรู้เบื้องต้นเท่านั้น    ส่วนมโนสัมผัสนั้นเป็นความรับรู้ที่ประมวลมาจากสัมผัสทั้งห้าอย่างแรกและมีลักษณะทั่วไป    

ขั้นตอนต่อไปเราจะมากล่าวถึงความรับรู้จากสัมผัสทั้ง 5 ประการว่าได้ให้ความรับรู้อะไรแก่เราบ้าง ไม่ใช่รู้กันแค่ รูป รส กลิ่น เสียง กาย และ มโนสัมผัสเท่านั้น
1.กายสัมผัส   เป็นความสำคัญเบื้องต้นที่เราใช้ทดสอบการมีอยู่ของ“สรรพสิ่ง” เราพอจะนึกถึงคำพัง เพยโบราณที่ว่า “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น  สิบตาเห็นไม่เท่าหนึ่งมือคลำ”   ซึ่งเป็นการสรุปความรับรู้ที่ค่อนข้างจะชัดเจน    กล่าวได้ว่ากายสัมผัสนั้นเป็นรากฐานเบื้องต้นในการ “วัด” สสารและพลังงาน  ไม่ว่าจะเป็น  น้ำหนัก  ความร้อน  แสง  เสียง  ที่เป็นปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์(ฟิสิคส์)    ถ้าพิจารณาจากทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินแล้ว  เราจะเห็นว่ากายสัมผัสนั้นมีความสำคัญเป็นอันดับแรก   เป็นสิ่งที่มาก่อนสัมผัสอื่นๆโดยเฉพาะในสัตว์ชั้นต่ำที่ไม่มีตาเช่นหนอนและไส้เดือน    มันจะเร้าตอบหากเราใช้อะไรไปสัมผัสตัวมัน
2. ตาสัมผัส     เมื่อตาสัมผัสกับวัตถุด้วยการเห็นรูปแล้วก็ส่งความรู้สึกนั้นไปยังสมอง  ก็ยังเป็นรองกายสัมผัสในการเสนอความจริงแต่กลับให้รายละเอียดที่ซับซ้อนมากกว่า     เพราะสามารถจำแนกทิศทางออกไปได้เป็น 3 มิติ (กว้าง x ยาว x สูง)    เราจะสังเกตได้ว่าคนตาบอดจะรับรู้เพียงสองมิติเท่านั้นคือด้านกว้างกับด้านยาว   แต่ไม่รู้ความสูง    ตาสัมผัสจึงทำให้เราได้รู้จักกับ นามธรรมอย่างหนึ่งคือ “เวลา”  ที่เรารู้ได้ก็เพราะเราได้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งๆเดียวกันแต่อยู่ต่างสถานที่กัน
3. โสตสัมผัส   ก็คือการสัมผัสทางเสียง    ที่วัตถุ(คลื่นเสียง)กระทบกับเยื่อบางๆในหู(แก้วหู) แล้วเกิดการสั่นสะเทือนไปสู่สมอง   กล่าวได้ว่า  มันเป็นการสัมผัสที่ค่อนข้างจะมีความซับซ้อน
4. ลิ้นสัมผัส  ทำให้เราได้รับรู้ถึงรสต่างๆ   ที่เป็นกระบวนการทางเคมี
5. กลิ่นสัมผัส   เป็นการสัมผัสกับเนื้อสสารโดยตรง   ทำให้เราได้รับรู้ถึงความแตกต่างทางคุณภาพของสารเคมีต่างๆเช่น เกลือแร่  กรด  ด่าง  กลิ่นของดอกไม้   กลิ่นที่ไม่พึงประสงค์    ความรู้สึกทางกลิ่นนี้ทำให้เราสามารถหลีกเลี่ยงจากมลพิษต่างๆได้     และเป็นกระบวนการสัมผัสทางเคมีเช่นกัน
เมื่อได้รับรู้กระบวนการทางสัมผัสเบื้องต้นทั้ง 5 แล้วจะเกิดความรู้สึกขึ้น 3 ประการคือ   1. จำได้ หรือความทรงจำ(สัญญา)   2. ความรู้สึก....รัก  ชัง  ชอบ เกลียด เฉยๆ(เวทนา)    3.การปรุงแต่ง...อยากให้เป็นแบบนั้นแบบนี้ คิดประดิษฐ์ สร้างสรรค์ (สังขาร)     ทั้งสามประการนี้เป็นการรับรู้ขั้นสูงขึ้นมาอีกคือการรับรู้ทางด้านเหตุผล   มันมีลักษณะทั่วไป   เป็นสัมผัสที่หกที่เรียกว่า มโนสัมผัส หรือ จิตสัมผัส       เป็นการสัมผัสกับสิ่งที่เป็นนามธรรมอันบ่อเกิดของ จินตภาพ  และ เป็นตัวสร้างสรรจินตนาการ(ที่มาจากการปฎิบัติ)     

สำหรับนักวัตถุนิยมแล้ว มโนสัมผัส หรือจิตสัมผัสนี้ ไม่ใช่ลัทธิจิตนิยม   และไม่ใช่สิ่งที่ไร้สาระหรือไม่มีความหมาย    จึงไม่ควรนำไปปนเปกับลัทธิจิตนิยมแต่ก็ต้องระ  มัดระวัง...อย่าให้มีแนวโน้มไปสู่ลัทธิจิตนิยมด้วย    สรุปแล้วก็คือความรับรู้ของคนเรานั้นมาจากสสารวัตถุซึ่งเป็นสิ่งนอกกายเรา     ไม่ใช่รู้เพราะว่าคิดเอาเอง   ในทางปรัชญาคำว่า วัตถุ  นั้นหมายถึงสสาร   พลังงาน  และปรากฏการณ์ต่างๆด้วย   รวมความแล้วก็หมายถึง ”สิ่งที่มี”  นั่นเอง     

แต่ความคิดที่ถูกต้องของคนเรานั้นมาจากไหนเล่า     เหมา เจ๋อ ตุง ได้กล่าวไว้ว่าความคิดที่ถูกต้องของเราจะได้มาจากการปฏิบัติทางสังคม 3 ประการคือ   การต่อสู้ทางการผลิต   การต่อสู้ทางชนชั้น    และการทดลองทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น     เพราะชีวิตทางสังคมเป็นสิ่งกำหนดความคิดและอุดมการณ์ของเรา    และได้สรุปไว้ว่ามนุษย์เมื่อดำเนินการต่อสู้ชนิดต่างๆในการปฏิบัติทางสังคมย่อมมีความจัดเจนอันอุดม    มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว ปรากฎการณ์นับไม่ถ้วนของสิ่งภายนอกได้สะท้อนเข้ามาในสมองของคนเราผ่านอวัยวะรับสัมผัสทั้ง 5 เป็นความรับรู้ทางความรู้สึก

ที่เราต้องเรียนรู้และเข้าใจถึงกระบวนความรับรู้เช่นนี้ก็เพราะว่า    “เมื่อความคิดที่ถูกต้องของชนชั้นที่ก้าวหน้าได้เป็นที่ยึดกุมของมวลชนแล้ว     เมื่อนั้นมันจะกลายเป็นพลังทางวัตถุที่จะไปดัดแปลงสังคมและดัดแปลงโลก”      อย่างที่ เลนิน ได้กล่าวไว้